Becomings Nonplace

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

พื้นที่-สถานที่ในทางสาธารณะหลายแห่งมีลักษณะไร้สถานที่หรืออสถานที่ (Non-place or nonplace) ในขณะเดียวกันพื้นที่หรือสถานที่สาธารณะบางแห่งนั้นมีความหมายต่อผู้คนจำนวนมาก เช่นพื้นที่หรือสถานที่สาธารณะทางประวัติศาสตร์ความทรงจำซึ่งมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ลักษณะของพื้นที่ที่ไร้สถานที่กลับถูกตรึงเอาความทรงจำและประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ฝังรากรอยแผลที่ใครหลายคนอยากลืมกลับจำ

ในโลกสมัยใหม่มนุษย์แทบทุกหมู่ย่อมมีประสบการณ์ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย สถานที่หลายๆแห่งได้ถูกประทับคิดนึกในความรู้สึกของมนุษย์ หากในความเป็นจริงสถานที่อีกหลายแห่งกลับไม่ก่อเกิดความรู้สึกแม้สถานที่นั้นๆ จะเป็นสถานที่ที่มีความจำเป็นในวิถีการดำรงอยู่และมีประโยชน์ใช้สอยแก่มนุษย์อย่างยากหลีกเลี่ยง  

นักมานุษยวิทยา นักภูมิศาสตร์มนุษย์และนักจิตวิทยาสังคมพยายามศึกษาว่าความรู้สึกของสถานที่นั้นพัฒนาขึ้นอย่างไร เราจะพบว่าปัจจุบันโลกถูกเชื่อมโยงและเกิดการบีบอัดด้านเวลา-พื้นที่ (time-space compression) ประหนึ่งว่าโลกใบเล็กลง และนำพาให้มนุษย์ได้สัมผัสมิติใหม่ของการรับรู้ที่ซับซ้อนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พวกเขาได้เห็นพื้นที่ที่ไม่เคยเห็น รู้สึกกับพื้นที่แม้จะไม่เคยไป ด้วยการลดทอนปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับมนุษย์ในขั้นปฐมภูมิให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ ภาพหรือเครื่องหมายเท่านั้น

มนุษย์ต้องปรับตัวให้ “ทัน” กับเวลาที่ล่วงไป
และแยกตนเองออกจากพื้นที่-สถานที่

ความทันสมัยจึงกลายเป็นเพียงวาทกรรมที่ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวให้ “ทัน” กับเวลาที่ล่วงไปและแยกตนเองออกจากพื้นที่-สถานที่ หรือไม่มีความเกี่ยวพันเชิงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคลในความหมายที่ Marc Augé (1935-) นักชาติพันธุ์วิทยาและมานุษยวิทยาฝรั่งเศสที่สนใจศึกษาสังคมเมือง ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ ”อสถานที่” (nonplace) เพื่อขุดค้นลงลึกในความหมายของการเคลื่อนที่ การเคลื่อนย้ายของมนุษย์และสภาวะชั่วขณะที่เกิดขึ้นกันสถานที่นั้นๆ โดยอ้างถึงช่องว่างที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของมนุษย์ที่ถูกลบออกไปจาสถานที่  โดยเขาได้อธิบายถึงความไร้สถานที่ (Non-places) หรือพื้นที่ที่ขาด “ความรู้สึกของสถานที่”  ความไร้สถานที่ได้แยกมนุษย์กับสิ่งที่แวดล้อมออกจากกันด้วยประดิษฐ์กรรมที่เรียกว่า Supermodernity  ซึ่งอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพื้นที่ในสถานการณ์ความล้นเกินด้านข้อมูลและความล้นเกินด้านพื้นที่ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ที่มาของภาพ: https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

Augé เสนอให้เรากลับไปมองเห็นความสำคัญของคำว่าพรมแดนเสียใหม่ ในฐานะที่มันคือทางผ่านไม่ใช่ทางตัน ไม่ว่าโลกโลกาภิวัตน์จะดำเนินหรือหมุนรุดหน้าไปไกลสักเพียงใด คำว่าพรมแดนก็ยังคงดำรงอยู่ และเราไม่สามารถปฏิเสธถึงการดำรงอยู่ของมันได้ ด้วยเหตุที่เขาสนใจเรื่องของการเคลื่อนไหวของมนุษย์  Augé ได้ผลิตผลงานทางมานุษยวิทยาที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่แสดงถึงความเป็นพลวัตรอยู่ตลอดเวลาในตัวของมนุษย์ แม้แต่งานเขียนเรื่องการขี่จักรยาน (Éloge de la bicyclette, 2008) สำหรับ Augé แล้วเขาสามารถอธิบายมันได้ในเชิงมายาคติและการเมือง เขายังศึกษาชีวิตชาวปารีสที่ใช้รถไฟใต้ดิน โดยเอาแนวคิดเรื่องความเป็นจริงทางสังคมของ Marcel Mauss (1872 –1950) นักสังคมวิทยาฝรั่งเศส มาอธิบายว่ารถไฟใต้ดินในปารีสนั้นเป็นพื้นที่ที่แสดงความเป็นจริงทางสังคมอย่างหนึ่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยร่วมสมัยทางมานุษยวิทยาที่น่าสนใจ

ในแนวคิด ‘supermodernity’ ได้อธิบายตรรกะที่ล้นเกินด้านข้อมูลและพื้นที่ในทางมานุษยวิทยา โดยแสดงความต่างระหว่างสถานที่ในทางประวัติศาสตร์และชีวิตทางสังคมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น และอสถานที่ที่ปัจเจกบุคคลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องตามแบบพฤติกรรมมนุษย์ กับสถานที่ซึ่งชีวิตทางสังคมไม่สามารถงอกเงยก่อเกิดปฏิสัมพันธ์ใดๆ ความคิดนี้แตกต่างจากแนวคิดสมัยใหม่สกุล Baudelaire (Charles Pierre Baudelaire 1821 –1867) ที่อธิบายว่าสิ่งเก่าและใหม่จะสอดประสานเข้าด้วยกัน ดังนั้น supermodernity จึงเป็นเพียงการรวมกันแบบสองมิติระหว่าง motorway หรือ aircraft  ความเป็นท้องถิ่นหรือความแปลกใหม่ (exotic) ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนสนุก

หาก Supermodernity ตามความหมายของ Auge  นั้นหมายถึงการรายล้อมของสถานที่ที่ปรากฏแสดงภายนอกความไร้สถานที่ และมีแนวโน้มในการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ภายในตัวของมันเอง เขาโต้แย้งแนวคิดดังกล่าวโดยระบุว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นอสถานที่มากยิ่งขึ้นในทุกขณะในเวลานี้ เป็นบทสรุปในช่องว่างของความโดดเดียวที่มีขนาดมหึมาซึ่งกลายเป็นเนื้อหาทางมานุษยวิทยาโดยตัวมันเอง เนื่องจากสถานที่ต่างๆ ที่ตอบสนองการดำรงชีวิตของมนุษย์กำลังกลายสู่ความเป็นสถานที่ที่ไร้ความรู้สึก อ้างว้างและว้าเหว่

ที่มาของภาพ: https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

Augé เป็นนักมานุษยวิทยาพื้นที่ที่อธิบายถึงสภาวะความไม่ถาวรของสถานที่ ความไร้สถานที่หรืออสถานที่ (Non-place or nonplace) ที่มีผลต่อมนุษย์ในการปรากฏแสดงของปัจเจกบุคคลโดยปราศจากความมีอยู่ (beings) หรือสภาพไร้ตัวตน (anonymous) เขาระบุว่าสถานที่เหล่านั้นจะมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่มนุษย์มิได้อาศัยอยู่ภายใน เป็นสถานที่ที่มิได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระดับพื้นฐานร่วมกันทางสังคม และก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวในมุมมองทางชาติพันธุ์วรรณา ในตัวอย่างพื้นที่-สถานที่ เช่น ซุปเปอร์มาร์เกต ทางด่วน  ห้องพักในโรงแรม โรงพยาบาล โรงหนัง สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และจอคอมพิวเตอร์-ทีวี แม้กระทั่งตู้กดเงิน ATM ฯ

“คุณจะถูกจับจ้องและให้ปฏิบัติตามมาตราการณ์ที่กำหนดเท่านั้น”

อสถานที่ ดังกล่าวโดยมากมีลักษณะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความแข็งแรง ระบบจะตรวจสอบเมื่อคุณก้าวเข้าไปภายใน หนังสือเดินทางจะถูกประทับ การรับเอาเอกสารเพื่อรับรองผ่านทาง กระเป๋าจะต้องถือติดตัวเสมอ มิเช่นนั้นหน่วยรักษาความปลอดภัยจะนำไปตรวจสอบฯ ในพื้นที่เช่นนี้คุณจะถูกจับจ้องและให้ปฏิบัติตามมาตราการณ์ที่กำหนดเท่านั้น การสังเกตได้โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพียงคนเดียวจากห้องควบคุมที่เรียกว่า Panoptic เกิดขึ้นโดยคุณไม่รู้ตัว

Auge ตั้งคำถามเกี่ยวกับอสถานที่ว่าอะไรที่ “ไม่มีในความไร้สถานที่” โดยเขากล่าวว่าสิ่งที่ขาดหายไปในความไร้สถานที่ ได้แก่เรื่องของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในเชิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทั้งด้านสังคมและปัจเจกบุคคล มันเป็นที่ๆ เกิดการปะทุขึ้นจากรูปแบบของเหตุการณ์ในพื้นที่หรือสถานที่จำเพาะ (site-specific event) และภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกประสบการณ์ที่มนุษย์ถือกำเนิดมา จากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาดำรงอยู่

ที่มาของภาพ: https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

พื้นที่(space) นั้นมีความเป็นนามธรรมมากกว่าสถานที่(place) และมีความสำคัญต่อมนุษย์มากกว่าการระบุตำแหน่ง มันให้ความหมายทางสังคมที่ซ้อนเร้นด้วยการกระทำของมนุษย์ พื้นที่กลายเป็นตำนาน กลายเป็นที่ลี้ลับ ก็ด้วยกิจกรรมทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้น การผลิตสร้างความหมายของพื้นที่ (production of space) ทั้งทางกายภาพ ทางความคิดและทางสังคม คือความสัมพันธ์(spatial relationship) ที่ซ่อนนัยทางอำนาจ และความหมายแฝงเชิงพื้นที่ลงไปในสถานที่นั้นๆ 

สถานที่จึงเป็นฐานลองรับทางจิตวิทยาที่มีต่อพัฒนาการของปัจเจกบุคคล คุณสมบัติของสถานที่เป็นเหตุเป็นผลและมีแนวโน้มต่อการที่มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์ตรงในสถานที่มีลักษณะเช่นเดียวกับบทบาทของครอบครัว วัฒนธรรม และชุมชน ความผูกพันพิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับสภาพแวดล้อมถูกเรียกว่า “ภูมิปฐมภูมิ” คืออัตลักษณ์ของบุคคลและถือเป็นจุดสำคัญในการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาสถานที่อื่นในชีวิตเมื่อผู้คนมีการเคลื่อนที่หรือโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขามักจะพิจารณาสถานที่ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์พื้นฐานที่เคยมีประสบการณ์ในวัยเด็กเสมอ

ที่มาของภาพ: https://www.advisato.it/blog/nonluoghi/

ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่-สถานที่ถูกผูกโยงติดกับมนุษย์           ซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์ เลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้กระบวนการกลายสู่และเปลี่ยนผ่าน (becoming or transformation) ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม มิติปัญหาต่างๆในทางสังคมจึงมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างเเละสถานที่เสมอ ในทัศนะของ Foucault มันคือพื้นที่ที่ไม่ปกติหรือพื้นที่ว่างอื่นๆ (Other Space) ที่เรียกว่า เฮเทอโรโทเปีย (Heterotopias) เป็นพื้นที่ที่คู่ขนานไปกับพื้นที่สมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง เป็นพื้นที่ของการปฏิเสธภาวะทางสังคมหรือพื้นที่ของอำนาจที่มีผลกระทบทางสังคม มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสภาวะความเป็นจริงของชีวิตซึ่งมีความขัดแย้งดำรงอยู่ การสร้างหรือนำเสนอพื้นที่แบบเฮเทอโรโทเปีย (Heterotopias) เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าผลที่ปรากฏจะเป็นการปฏิเสธสังคมหรือด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นก็ตาม

การสร้างพื้นที่-สถานที่ ภายใต้บริบทซึ่งอยู่ในสภาวะของกระบวนการกลายสู่ (becoming) นั้น มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่ตายตัว ตอกย้ำความคิดที่ว่าความรู้สึกต่อสถานที่และสภาวะไร้สถานที่ (placeness and placelessness) คือกุญแจสำคัญในการประกอบสร้างสถานที่ขึ้นมา (sense of placeness and the placelessness as key in the constitution of the place) แม้ non-place และ place จะเป็นสิ่งเดียวกันก็ตาม แต่มันไม่เคยปรากฏเป็นรูปเป็นร่างที่สามารถจับต้อง สถานที่กำลังสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่จากภายในตัวมันเอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันมิได้มีอยู่ก่อนที่จะมีร่างกายปรากฏขึ้น มันเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นระบบระเบียบและมีการจัดการมาเป็นอย่างดี สถานที่จึงเกิดขึ้นควบคู่ไปกับร่างกายในลักษณะเป็นส่วนขยายของมนุษย์ โดยมีสะพานเชื่อมระหว่างกันและกัน

ที่มาของภาพ: http://www.michelapozzi.net/en/works/non-luogo-interiore

การเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่เป็นสถานที่ เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในปัจเจกบุคคลและบริบทที่ต่างกัน  มันสร้างความรู้สึกถึงการเป็นคนใน (insider) หรืออาจผลักให้กลายเป็นคนนอก (outsider) กระบวนการกลายเป็นสถานที่มักเกิดจากความผูกพัน หรือมีความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมา มันคือแหล่งสะสมของประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา ประสบการณ์ที่ว่านี้มิได้แผ่ขยายออกในทางราบ แต่เป็นการซ้อนทับกลับไปกลับมาที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก

“สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอื่นที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ถึงความเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน”

ในกรณีที่สถานที่นั้นไม่ใช่สถานที่ หรือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากสถานที่ที่มนุษย์มีความสัมพันธ์ มีประวัติศาสตร์ร่วมและเกี่ยวข้องในเชิงอัตลักษณ์ ความย้อนแย้งของอสถานที่ในแง่มุมของ Augé เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกถึงความเป็นบ้าน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอื่นที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ถึงความเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน ในความหมายที่เหมือนกับการที่เราเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างแดน ที่ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากเราหรือแม้แต่ภายในประเทศเดียวกันที่ๆ ผู้มีอำนาจมีวัฒนธรรมและชุดความคิดคนละชุดกับเรา  ความเป็นสากลต่อสถานะของความเป็นคนไร้บ้านจะปรากฏขึ้น มันคือสภาวะความไร้สถานที่ที่แวดล้อมเราอยู่แม้เราจะเคลื่อนไหวอยู่ภายในนั้นก็ตาม

จากทัศนะดังกล่าวเราลองจินตนาการผ่านภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองดูกันว่า เมื่อภาพพื้นที่-สถานที่ถูกขยายให้กว้างขึ้นโดยเปรียบสถานที่ในฐานะพื้นที่พรมแดนความเป็นรัฐ และปัจเจกบุคคลในฐานะพลเมืองที่ตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมโดยอำนาจจากภาครัฐ ความสำคัญของพรมแดนระหว่างรัฐและพื้นที่ของปัจเจกบุคคล อยู่ที่ความเป็นพลวัตรของการเรียกร้องทวงคืนความเป็นเจ้าของพื้นที่-สถานที่โดยนัยที่พลเมืองหรือปัจเจกบุคคลรวมตัวกันเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนเพื่อไม่ปล่อยให้พื้นที่หรือประเทศในฐานะสถานที่แห่งหนึ่งที่มีรูปทรงขวานกลายเป็นอสถานที่ต่อผู้เห็นต่างในวันข้างหน้า

_______________________________________

เอกสารอ้างอิง

1. Marc Augé, Non-places. Introduction to an Anthropology of Supermodernity, New York-London, Verso,1995, pp-77-96 (ed. or. Non-Lieux, Introduction à une anthropologie de Ia surmodernité, Paris, Seuil, 1992)

2.Kevin Donovan, Building Supermodernity: The Architecture of Supermodernism,  Jan 1, 2009

3. นราธร สายเส็ง, ธรรมชาติมนุษย์กับมุมมองเชิงพื้นที่, ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ

ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน 2560

4. ศุภมณฑา สุภานันท์, พื้นที่เวลา อัตลักษณ์และการสร้างความหมายทางสังคม, 186…Journal of Communication Arts Vol. 29 No. 3 2011 Faculty of Communication Art, Chulalongkorn University

5. ฐานิดา บุญวรรโณ, มานุษยวิทยาสำนักฝรั่งเศส, http://thanidab.blogspot.com/2013/01/blog-post.html

6. https://searchworks.stanford.edu/view/3003009

7. https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

8. https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

9. https://www.oxfordreference.com/view/10.1093/oi/authority.20110803100237780

10.https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

1512175_1569762403340933_1763148169733327469_o

ลาวเทมโพรารี่ ผีบุญ และหมุด63

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวของเดวิด สเตร็คฟัสส์ ชายผู้ปฏิเสธแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัดในสหรัฐอเมริกาสมัยโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี ได้หนีสงครามเย็นมาใช้ชีวิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอย่างถาวรในฐานะนักวิชาการอิสระ โดยทำการศึกษากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของประเทศต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสภาการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (Council on International Educational Exchange: CIEE) เรื่องของเขากลายเป็นประเด็นทางสังคมที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุการถูกระงับวีซา และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลักดันออกนอกประเทศด้วยข้อกล่าวหาปรัมปรำว่าด้วย CIA

ในปี 2537 เดวิดได้พบกับ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ พ่อใหญ่ผู้ขบถแห่งคอร์แนลสคูล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอีสานศึกษา ผะหยารู้ลึกซึ้งและรู้จักอีสานดียิ่งกว่านักการเมืองทั้งหลายในสภา ในฐานะเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา และคายส์ยังเป็นผู้ผลักดันให้เดวิดได้หวนกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในฐานะผู้อำนวยการสภา CIEE จังหวัดขอนแก่น ต่อมาเขาได้ร่วมกับนักพัฒนาเอกชนของไทยทำงานโครงการภาคประชาสังคมกลุ่มสมัชชาคนจนในภาคอีสาน ร่วมกัน ขับเคลื่อนและคัดค้านกรณีสร้างเขื่อนปากมูลและประเด็นอื่นๆ ทางสังคมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอีสานอีกหลายโครงการ

เดวิด สเตร็คฟัสส์ ที่มาภาพ: The Isaander

ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ที่มาภาพ: https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17958

เดวิด สเตร็คฟัสส์ มิใช่นักวิชาการคนแรกที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐไทยสมัยใหม่ ผลจากการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ และเข้าพูดคุยกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในภาคอีสานของเขา ได้ถูกรวบรวมออกมาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษา และจัดทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรมโดยศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกสารที่รัฐไทยสมัยใหม่ต้องการปกปิดบิดเบี้ยว เพื่อต้องการให้อีสานยึดโยงหรือเป็นไปตามแนวทางที่กรุงเทพฯอยากให้เป็น อัตลักษณ์ความภาคภูมิใจในความเป็นคนอีสานหรือคนลาวนั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ปรีดี พนมยงค์ พยายามให้ข้อเสนอและยอมรับความหลากหลายของผู้คน และย้ำเตือนว่าความเป็นคนอีสานหรือคนลาว จะถูกยอมรับเพื่อสร้างหลักประกันว่ากรุงเทพฯกับอีสานนั้นเท่าเทียมกัน 

หากในทางปฏิบัติ เรายังพบกรณีการปิดกั้นความทัดเทียม ระหว่างภูมิภาคกับศูนย์กลางอำนาจของกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกอณูในชีวิตประจำวันและทุกภูมิภาคโดยดูได้จาก GDP การพัฒนาซึ่งศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯสูบกินไปมากกว่า 70% ของเศรษฐกิจมวลรวม ซึ่งเป็นทั้งกับดักและโครงสร้างที่กรุงเทพฯครอบครองไว้ โดยเฉพาะภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ได้เงินน้อยกว่าที่ผลิตจาก 20% พวกเขาได้เงินสนับสนุนงบประมาณเพียง 6% เท่านั้น ความยากจนของคนอีสานอาจเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐสมัยใหม่ล้อเล่นกับโชคชะตาของผู้คน ด้วยการกดทับอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของพวกเขาให้จำนนต่อชุดความคิดที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่ โดยไม่ยอมให้คนอีสานหรือคนลาวปรากฏในพื้นที่รัฐชาติ

  • อัตลักษณ์และพื้นที่

คำว่า ลาว เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาวหรือชนชาวอีสาน ที่มีหลักแหล่งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ส่วนคำว่าอีสานเป็นประดิษฐ์กรรมของรัฐไทยสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ธีรพงษ์ กันทำ, 2559: 323)  เพื่อใช้เรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา บริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่าง ๆ ในอีสานได้ถูกสถาปนาเป็นภาคอีสานมาจนปัจจุบัน หากวิเคราะห์วาทกรรม (discourse analysis) ตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (ethnic identity) คำว่า ลาว อีสาน และกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาว จึงหมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พูดภาษาลาว หรือที่ทางราชการเรียกว่าภาษาอีสาน (สมหมาย ชินนาค, 2546:1) 

กรณีศึกษาคำว่าลาวเมื่อพิจารณาผ่านภาษาศาสตร์และภูมิศาสตร์ สามารถแบ่งได้เป็นสองกรณีกล่าวคือ คำว่าลาวที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ และคำว่าอีสานที่ใช้เรียกพื้นที่ โดยถูกกำหนดให้ใช้เรียกเหมารวมทั้งกลุ่มชนและพื้นที่ ในผลงานวิจัย อีสานนิยม: ท้องถิ่นนิยมในสยามประเทศไทย ของ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ระบุว่าคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้คำว่า “อีสาน” เพิ่มมากขึ้น แสดงถึงสำนึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของภูมิภาค/ชาติพันธุ์ ที่สะท้อนถึงการดำรงอยู่ของความไม่ลงรอยทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและอีสาน อีสานจึงมิใช่พื้นที่ทางกายภาพหรือพื้นที่ทางธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ในจินตนาการในขณะเดียวกัน (ธีรพงษ์ กันทำ, 2559: 309) 

อีสานเป็นคำที่หยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤต สะกดว่า อีศาน หมายถึง นามพระศิวะ ผู้เป็นเทพยดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คำว่าอีศานมีปรากฏในประวัติศาสตร์ราว พ.ศ. 1000 ในชื่อรัฐว่า อีศานปุระ ฝ่ายไทยยืมรูปคำมาจากบาลีเขียนว่า อีสาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีพบการตั้งบ้านเมืองในดินแดนอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษ 24-25 หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่า 100 เมือง ชาวอีสานมีพื้นเพมาจากคนหลายกลุ่มตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ชาติพันธุ์หลากหลายในภาคอีสานประกอบด้วย ลาว ภูไท ไทดำ ไทกุลา กูย เขมร ไทญ้อ ไทโส้ ไทแสก ไทข่า และไทกะเลิง รวมทั้งชาวจีน เวียดนาม อินเดีย หรือเชื้อชาติอื่น ๆ ที่อพยพเข้ามาแต่ครั้งโบราณกาล หรืออพยพเข้ามาใหม่หลังสงคราม 

กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในอีสาน ด้วยอาศัยพื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์ (อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, 2544: 1) จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เสนอข้อคิดเรื่องวิวัฒนาการและความหมายของคำว่า ไท และ ลาว เพื่ออธิบายกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวที่ตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ว่ามีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับกลุ่มคนไทที่อาศัยในบริเวณลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขะแมร์กับมอญ สร้างวัฒนธรรมที่มีลักษณะประจำชุมชนอันโดดเด่น กล่าวคือ อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ (สุธิดา ตันเลิศ, 2558: 90) 

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสประจำแคว้นลาวได้รีบเร่งขบวนการสร้างรัฐชาติแบบใหม่โดยมุ่งการแบ่งแยกคนลาวสองฝั่งแม่นํ้าโขง และการปลูกจิตสำนึกรัฐประชาชาติสมัยใหม่ขึ้น ยังผลให้คำว่า ”ลาว” มีความหมายเชิงปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐ ในเวลาต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 3/2482 โดยให้เปลี่ยนคำเรียก ไท-ลาว เป็น ไทยอีสาน เช่นเดียวกับคำว่า ไท-มาลายู ให้เปลี่ยนเป็น ไทยมุสลิม ในคราวเดียวกัน เพื่อปรับความสัมพันธ์ภายในสังคมผ่านการสร้างจินตนากรรมทางสังคม หรือที่ เบน แอนเดอร์สัน เรียกว่า ชุมชนจินตกรรม ซึ่งก่อกำเนิดและแพร่ขยายความคิดชาตินิยม 

มีคำอธิบายไว้ในสุนทรพจน์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482  ความว่า “รัฐนิยมคือหลักที่คนไทยทั้งชาติได้กำหนดนัดหมายว่าจะประพฤติเหมือน ๆ กัน… ” (ณรงค์ พ่วงพิศ, 2545: 21) จิตร ภูมิศักดิ์ มีทัศนะแย้งต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างที่สุด เขาคัดค้านการผูกขาดการเรียนประวัติของชนเชื้อชาติเดียว ภูมิภาคเดียว โดยตัดประวัติของชนชาติอื่น และภูมิภาคอื่นทิ้งว่าเป็นสิ่งที่อันตราย และมองว่าเอกภาพของสังคมไทย และผืนแผ่นดินนี้ควรต้องประกอบสร้างขึ้นจากหลากภูมิภาค และหลายชนชาติ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) (สุธิดา ตันเลิศ, 2558: 102) เป็นทุนเดิม

ที่มาภาพ: https://www.silpa-mag.com/history/article_41612

กรณีศึกษาวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 มีผลต่อความเข้าใจในการอุบัติขึ้นของภูมิกายาหรือตัวตนทางกายภาพของสยามและประเทศไทยในเวลาต่อมา จากมโนภาพและแบบแผนการปฏิบัติทางภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านสยามในกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ จึงสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบใหม่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นประวัติศาสตร์สยามหลังการปฏิวัติ 2475 ได้ถูกสร้างและผลิตซ้ำโดยการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับการฟื้นฟูยุคทองของสุโขทัย (ธงชัย วินิจจะกูล, 2554: 17) ด้วยการเกาะเข้าไปในหลักศิลาจารึก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นนำในการปกครองแบบพ่อปกครองลูก จนกระทั่งมันกลายเป็นสำนึกและมโนทัศน์ที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนานจากสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2500 จนถึงปัจจุบัน

ปัญญาชนรุ่นบุกเบิกด้านประวัติศาสตร์ได้เสนอวิธีการศึกษา และมโนภาพใหม่ในการประกอบสร้างอดีตเช่นเดียวกับภูมิศาสตร์และความรู้แขนงอื่นๆ อดีตที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้สะท้อนความบิดเบี้ยวแตกหักจากความคิดเดิมของคนพื้นเมืองที่มีต่ออดีต (ธงชัย วินิจจะกูล, 2554: 54) การที่ภูมิศาสตร์สมัยใหม่เข้าไปแทนที่ภูมิศาสตร์พื้นถิ่น คือการประดิษฐ์สร้างความสัมพันธ์ของหน่วยทางพื้นที่ที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวและเป็นปึกแผ่น ขณะที่ประวัติศาสตร์ของศูนย์กลางอำนาจทำให้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของทั้งหมด 

แนวคิดภูมิศาสตร์มนุษยนิยมได้เสนอมโนทัศน์ อันเป็นหนทางต่อการทำความเข้าใจของมนุษย์ กับสถานที่ (Place) ซึ่งถูกใช้ในความหมายของการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ ความทรงจำ และปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ในชีวิต ซึ่งหมายรวมถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อพื้นที่ (Space) ในทัศนะของ ทิม เครสเวล  (Tim Cresswell b. 1965-) ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือพื้นที่ คือสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความสำคัญโดยตรงแก่ตัวมัน พูดอีกอย่างก็คือจิตวิญญาณของสถานที่เกิดจากพฤติกรรมและการปฏิบัติของมนุษย์นั้นเอง โดยมีโครงสร้างทางสังคม ประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนด

ในกรณีเช่นนี้ ยี ฟู ตวน (Yi Fu Tuan b. 1930-) ได้เสนอนิยามเรื่องสถานที่และพื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจสองนัยยะ กล่าวคือ สถานที่แสดงออกถึงความมั่นคงปลอดภัย ส่วนพื้นที่แสดงออกถึงเสรีภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะคำนึงถึงพื้นที่ในลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่อคติ พื้นที่และสถานที่แห่งมายาคติ เวลาในพื้นที่แห่งประสบการณ์ หรือความเกี่ยวโยงทางวัฒนธรรมที่มีต่อพื้นที่ ซึ่ง ตวน มองว่ามนุษย์จะยึดโยงตนเองในด้านหนึ่งและถวิลหาอีกด้านหนึ่งเสมอ  มันแสดงออกถึงความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการการปกป้องจากรัฐ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ยังต้องการอิสรภาพในการสื่อสารและแสดงออก 

หากพิจารณาประเด็นภูมิศาสตร์ตามแนวทางดังกล่าว จะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่ออัตลักษณ์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ในทางสังคมวัฒนธรรมอัตลักษณ์ถือเป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษและมักถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมกระแสหลักของผู้มีอำนาจสูงกว่า ปัจจุบันแนวคิดท้องถิ่นภิวัฒน์ได้พัฒนาความสัมพันธ์และเปลี่ยนผ่านความเป็นโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดนจึงต้องอาศัยท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะเท่านั้นที่เป็นที่อยู่และที่ยืนให้กับกระแสโลก ดังนั้นท้อง ถิ่นนิยมกับโลกาภิวัตน์นิยมจึงควรได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นองค์รวมในลักษณะ Glocalization[1] 

กระแสท้องถิ่นภิวัฒน์จึงไม่ใช่การโหยหาวันวานหรือการกลับคืนสู่อดีต เสรี พงศ์พิศ อธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า คือกระบวนการต่อรองและตอบโต้อคติของรัฐที่มองข้ามศักยภาพของชุมชนท้อง ถิ่น เป็นการวิเคราะห์วาทกรรมและแนวคิดเรื่องของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และการเมืองเรื่องพื้นที่ (สมหมาย ชินนาค, 2546: 1) โดยการสืบสาวค้นหาความหมายอันบูรณาการอยู่ในวิถีชุมชน นำมาปรับประยุกต์เพื่อสืบทอดคุณค่าเหล่านั้นอย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่แตกต่างไปจากอดีต (เสรี พงศ์พิศ, 2547: 16) 

___________________________

[1] Glocalization เป็นคำสมาสระหว่าง Globalization และ localization  ซึ่งปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80 ในวารสาร  Harvard Business Review หัวข้อในการประชุมสัมมนา ในปี 1997 เรื่อง โลกาภิวัฒน์และวัฒนธรรมชนพื้นเมือง นักสังคมศาสตร์ อย่าง Roland Robertson ระบุว่า Glocalization หมายถึงการซ้อนกันในเวลาเดียวกัน การมีสถานะที่ปรากฏร่วมกันทั้งในเชิงการทำให้เป็นสากลและการจำเพาะเจาะจง (ดูรายละเอียดใน https://en.wikipedia.org/wiki/Glocalization)


แผนที่ indochine ที่มาภาพ: http://www.payer.de/thailandchronik/chronik1941.htm
 

วาทกรรม (Discourse) เรื่องความเป็นลาว (being Loa) และการสร้างความเป็นอื่น (Being other) ถูกประดิษฐ์สร้างและผลิตซ้ำในสังคมไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาในฐานะถูกดูแคลน   ชุด

นิยามภายใต้วาทกรรมนี้มีอยู่อย่างกำกวม สามัญทัศน์และจินตภาพที่มีต่อชาติพันธุ์ไทย-ลาว เป็นส่วนเสี้ยวของชุดวาทกรรมที่ไม่มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ละชุดของวาทกรรมมีความแตกต่างและหลากหลาย ตามทัศนะของ Michel Foucault ได้อธิบายถึงประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามในการศึกษาวาทกรรมประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของวาทกรรมกับอำนาจ เขามองว่าวาทกรรมคืออำนาจที่จะต้องถูกยึดกุม แต่วาทกรรมก็มิใช่ตัวอำนาจโดยตรง 

วาทกรรมเป็นรอยต่อระหว่างอำนาจกับความรู้ วาทกรรมยังทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น ให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง (Valorize) และกลายสภาพเป็นวาทกรรมหลักของสังคม (Dominant Discourse) ขณะเดียวกันวาทกรรมยังทำหน้าที่เก็บกด ปิดกั้นมิให้เอกลักษณ์ความหมายบางอย่างปรากฏ (Subjugate) หรือไม่ก็ทำให้เอกลักษณ์และความหมายบางสิ่งที่เคยดำรงอยู่ก่อนในสังคมเลือนหายไปได้พร้อมๆ กัน (Displace) วาทกรรมจึงเป็นมากกว่าเรื่องของภาษาหรือเพียงคำพูด แต่มีภาคปฏิบัติการ (Discursive Practice) ที่ทรงพลังและขยายตัว วาทกรรมคือระบบและกระบวนการในการผลิต/สร้าง (Constitute) เอกลักษณ์ (Identity) และความหมาย (Significance) ให้กับสรรพสิ่งต่าง ๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง (ออมสิน บุญเลิศ, 2552: 110)

หมอลําโสภา พลตรี กบฏผู้มีบุญอีสาน บ้านสาวะถี
ที่มาภาพ https://annop.me/7210/

วาทกรรมว่าด้วย “ความเป็นลาว” คือจินตภาพที่ถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่จากรัฐไทย เป็นสนามของการต่อรองตอบโต้ด้วยอำนาจในฐานะตัวแสดงหรือผู้กระทำ (Agency) ตลอดช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (Modern State) รัฐไทยไม่สามารถควบคุมผู้คนและสำนึกความเป็นลาวได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากกรณีศึกษากบฏผู้มีบุญในภาคอีสานหลายครั้ง นับแต่กบฏบุญกว้าง ปี พ.ศ. 2242 ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ถึงกบฏศิลา วงศ์สิน ปี พ.ศ. 2502  ได้เกิดกบฏผู้มีบุญขึ้นในภาคอีสานถึง 9 ครั้งได้แก่กบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 ในสมัยรัชกาลที่ 1 กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2360 ในสมัยรัชกาลที่ 2 กบฏสามโบก ประมาณ พ.ศ. 2442-44 กบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-45 ในสมัยรัชกาลที่ 5  กบฏหนองหมากแก้ว พ.ศ. 2467 ในสมัยรัชกาลที่ 6 กบฏหมอลำน้อยชาดา พ.ศ. 2479 กบฏหมอลำโสภา พลตรี พ.ศ. 2483 ในสมัยรัชกาลที่ 8 กบฏศิลา วงศ์สิน พ.ศ. 2502 ในสมัยรัชกาลที่ ๙ เรื่อยมาจนถึงกบฏผู้มีบุญในปี พ.ศ. 2557 กับบทบาทแกนนำการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจากภาคอีสานในกรุงเทพฯ

เราพบว่ามีความพยายามในต่อรองอำนาจศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ตลอดรัชสมัยแห่งการปฏิรูปจักรี การขับเคลื่อนเรียกร้องความเสมอภาคจากการถูกเอารัดเอาเปรียบมิได้เกิดในภูมิภาคอีสานเท่านั้น แต่กระจายไปในหลาย ๆ ภูมิภาคเช่น กบฏสาเกียดโง้ง ปีพ.ศ. 2358 กบฏพญาปราบ ปีพ.ศ. 2432 กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ปีพ.ศ. 2445 และกบฏผู้มีบุญภาคใต้ ปีพ.ศ. 2452-2454 และตัวอย่างการก่อการกบฏเฉพาะในภาคอีสานระหว่างปี พ.ศ. 2444-2445 เพียงปีเดียวมีผู้ตั้งตัวเป็น “ผู้มีบุญ” ถึง 60 คน กระจายอยู่ถึง 13 จังหวัดในภาคอีศาน ได้แก่ อุบลราชธานี 14 คน ศรีสะเกษ 12 คน มหาสารคาม 10 คน นครราชสีมา 5 คน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ จังหวัดละ 4 คน ร้อยเอ็ด สกลนคร จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน 

หลังกบฏปี พ.ศ. 2444 เป็นต้นมาส่งผลให้รัชกาลที่ 5  และรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ มุ่งความสนใจในการควบคุมราษฎรโดยเฉพาะภาคอีสานมากยิ่งขึ้น ด้วยการก่อตั้งสถานีตำรวจภูธรแห่งแรกในประเทศไทย สร้างนโยบายด้วยปฏิรูปการศึกษาให้มีหลักสูตรเดียวกันกับกรุงเทพฯ ลบเลือนประวัติศาสตร์และคติชนวิทยารวมถึงขนบความเชื่อต่าง ๆ และการออกพระราชบัญญัติห้ามมิให้ใช้คำว่า ไท-ลาว รวมถึงคำว่าไท-มาลายู อีกต่อไป 

ด้วยเหตุนี้สามัญทัศน์และจินตภาพเรื่องชาติพันธุ์ไท-ลาว ต่ออำนาจศูนย์กลางในกรุงเทพฯ จึงปรากฏในลักษณะชั่วครั้งชั่วคราวไม่ปะติดปะต่อเป็นเส้นตรง ด้วยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกอธิบายภายใต้กลไกของกรอบความคิดแบบรัฐประชาชาติ (Nation-State) ซึ่ง ธงชัย วินิจจะกุล เรียกว่าประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม (Royal-nation history) ที่สืบทอดมาจวบจนปัจจุบันคนหนุ่มคนสาวได้ปักหมุดหมายทวงถามความหมายของชาติว่าคืออะไร และทำไมผู้เห็นต่างจากรัฐจึงถูกมองว่ามีความเป็นไทยบกพร่อง ความพยายามของชนชั้นนำและผู้ครองอำนาจที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาพยายามฉุดรั้งโครงสร้างหรือเรือนร่างอันผุกร่อนของเรือผี เพียงเพื่อรักษาความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าบ้านเมืองร่มเย็นได้เพราะพระบริบาล

กบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน เป็นต้นแบบของการเรียกร้องอัตลักษณ์ความแตกต่างที่เท่าเทียม ด้วยความเห็นที่ว่าชาติคือประชาชนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ร่วมกัน คิดเหมือนกัน มีอะไร ๆ เหมือน ๆ กัน หากมีบางเรื่องที่ทำให้คนมาอยู่รวมกันปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันและมีบางเรื่องที่แตกต่างกัน ในความหมายของนักหลากหลายนิยมตามทัศนะของ ควาเม่ แอนโธนี อัปไปอาห์ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือความบีบคั้นให้จงรักภักดีต่ออัตลักษณ์ ภายใต้คำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเกี่ยวกับความเป็นThainess นั้นมีความสุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งเป็นอันตรายเพราะไม่สามารถยืดหยุ่นได้

มันเป็นเพียงเครื่องมือหลักในการควบคุมคนในสังคม ให้มีความปรารถนาไปในทิศทางที่ชนชั้นนำและรัฐกำหนดเพื่อประโยชน์ต่อการปกครอง ความน่าสนใจในประเด็นนี้อยู่ที่ว่าแม้จะมีการเปลี่ยน แปลงการปกครองจากระบอบสมบรูณาญาสิทธ์ราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วเกือบ 100 ปี แต่ความปรารถนาของชนชั้นนำในสังคมไทยกลับไม่เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับคนชั้นกลาง(ล่าง)และคนรากหญ้า แถมยังถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำความปรารถนาแบบเก่าๆ ที่ดำรงอยู่และไม่พยายามเรียนรู้เพื่อชำระประวัติศาสตร์ โดยปล่อยให้อัตลักษณ์ที่แตกต่างเกิดความทัดเทียมเสมอกัน

                  จากปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มคนสาวได้ปักหมุดหมายทวงถามความหมายของชาติว่าคืออะไร และต้องการเพิ่มเพดานให้สูงขึ้น หลายต่อหลายคนอ้างอิงผู้มีบุญอีสาน ผีบุญเสื้อแดง หรือดวงวิญญาณ 99 ศพที่วัดปทุมวนาราม เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในชื่อเรียกอีกมากมายเพื่อการรวมตัวกันปฏิบัติการเรียกร้องความยุติธรรมความเสมอภาคความเท่าเทียม และต้องเป็นประชาธิปไตย เราจะเห็นได้ว่าคนหนุ่มคนสาวหลายต่อหลายคนออกมาประกาศยื่นข้างคนเสื้อแดงแสดงความเห็นอกเห็นใจ ออกมาขอโทษคนเสื้อแดงที่เคยเข้าใจผิดพวกเขา และอีกหลายคนออกมาสานต่ออุดมการณ์ของผีบุญ เช่นผีบุญยกเลิก112 ผีบุญแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผีบุญขอนแก่นพอกันที ผีบุญนักเรียนเลว ฯลฯ

วาทกรรม ‘ความเป็นไทย’ หรือธงแห่งความเป็นคนดี ของอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาซึ่งถูกชูด้วยกลุ่มชนที่ได้เปรียบเพื่อใช้กดเหยียดชนชั้นล่าง ๆ ในประเทศ เคยก่อให้เกิดการเข่นฆ่านองเลือดในการต่อต้านกระบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายใน 6 ตุลาคม 2519 และสงครามประชาชน(ผกค.)ที่ลุกลามอยู่ในพื้นที่มากกว่า 50 จังหวัด ตราบใดที่การรวมตัวกันของผีบุญไม่สิ้นสุด ตราบใดที่การเน้นย้ำความ’ด้อยกว่า’ ของคนชั้นกลาง(ล่าง) และคนรากหญ้าจำนวนมหาศาลยังคงอยู่ ความที่คนไม่เท่ากันคือชุดความคิดหรือระเบิดเวลาที่จะนำมาซึ่งหายนะมากกว่าความเจริญของประเทศชาติในที่สุด

OOO ความจริงในวัตถุ: กรณีศึกษา Asian Art Biennial 2019 [exhibition review] (part 3)

บทความโดย ผิว มีมาลัย
ภาอรุณ ชูประเสริฐ x สุพิชญา ขุนชำนิ : บรรณาธิการ
อวิกา สมัครสมาน ออกแบบปก

OOO: III

ผลงาน Friction Current: Magic Mountain Project 2019 จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหมาย
เลข 102 ในห้องขนาดประมาณ 8 x 10 เมตร ตู้กระจกควบคุมความเย็นขนาดใหญ่ 120 x 120 สูง 200 ซม. ตั้งอยู่ใกล้กึ่งกลางห้องภายในบรรจุอ่างน้ำพุหินหมุนฮวงจุ้ยอย่างเป็นมงคล

ความตระหง่านโดดเด่น และประกายมันวาวบนผิวหยกที่สะท้อนแสงไฟจากเพดานตู้ด้านบน ขับเน้นให้ลูกบอลหยกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว หมุนลอยวนเป็นงูกินหาง ด้วยแรงดันและแรงเสียดทานของน้ำปัสสาวะผ่านเครื่องปั๊มขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ภายในอ่างน้ำพุหินอ่อนสีขาว

Friction Current: Magic Mountain Project 2019

อุณหภูมิภายในตู้กระจกจะถูกควบคุมไว้ที่ 8-15 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรักษาพยาธิสภาพของปัสสาวะ และค่าครึ่งชีวิตของเมธแอมเฟตามีนให้สามารถคงสภาพอยู่ได้ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ภายในอ่างน้ำหินอ่อน ศิลปินติดตั้ง immersion sturgeon waterproof contact microphone ต่อเชื่อมไปที่ USB audio interface และ controller เพื่อให้เสียงกระจายไปยังลำโพงซึ่งถูกติดตั้งไว้บนผนังรอบห้องจำนวน 6 ดอก

ผู้ชมภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการฯ จะได้ยินเสียงครางสั่นร้องของเครื่องกลไฟฟ้าที่กำลังทำงานอยู่ใต้ผิวน้ำปัสสาวะในอ่างหินอ่อนเป็นเสียงหึ่งๆระงมกำธรไปทั่วห้อง โอกาสและความเป็นไปได้ของเสียงที่เกิดจากน้ำปัสสาวะ

ซึ่งผุดล้นออกจากขอบ หยดและตกลงกระทบผิวน้ำปัสสาวะในอ่างบริเวณที่ microphone ถูกติดตั้งจะส่งเสียงที่แหลมใสหรือทุ้มต่ำเป็นไปตามจังหวะความเป็นไปได้ที่ควบคุมไม่ได้

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Refrigerated cabinet 120 x 120 x 200 cm., Jadeite Ø 12.7 cm., Marble sphere fountain Ø 60 cm. x 50 cm., Immersion sturgeon waterproof contact microphone, USB audio interface, controller, 6 sound speakers, Water pump,)

ศิลปินอาศัย controller เพื่อช่วยในการควบคุมกำหนดเวลา และจังหวะให้เสียงค่อยๆเริ่มจากเบาไปหาหนักและค่อยๆกลับไปสู่เบา ระยะเวลา 3 นาที โปรแกรมจะรีเซทตัวเองอีกครั้งทุกๆ 3 นาทีพัก 3 นาทีต่อเนื่องกันไปเป็นลูป คล้ายแอมเบียนต์ของเสียงในโรงงานที่ใดที่หนึ่ง

ลูกบอลหยกแห่งโชคลาภ และผลประโยชน์นั้นคือหินที่สวรรค์ประทานตามความเชื่อของชาวจีน กำลังหมุนลอยอยู่บนฐานน้ำพุตลอดทั้งวันและทั้งคืน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตลอดระยะการแสดงนิทรรศการครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่สารประกอบ C10H15N ภายในปัสสาวะจะแทรกซึมผ่านเข้าไปสู่อนุภาคของสารประกอบ NaAISi2O6 ภายในเนื้อหยก

แม้เส้นด้ายชนิดพิเศษตามตำนานเล่าขานในภูเขามหัศจรรย์แห่ง Zomia จะประกอบด้วยซิลิกาที่มีความแข็งคล้ายผลึกแก้วก็ตาม แต่ภายในตัวมันประกอบด้วยออกซิเจนถึง 6 หน่วย

คำถามเชิงอุปมาต่อกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุที่ศิลปินทำการทดลองนำสารประกอบ C10H15N เสียดสีแทรกซึม และฝังตัวอยู่ภายในเนื้อหยกเพื่อส่งสัญญาณให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ผนังสี่ด้านของห้องนิทรรศการถูกติดตั้งผลงาน archive และ documents ในรูปแบบต่างๆเช่น ภาพเหมือน silhouette บุคคลสำคัญที่เชื่อมโยงกันระหว่างธรณีวิทยาและชีววิทยาในงานวิจัยฯ ถูกวาดลงบนผนังขนาดประมาณ 3 x 7 เมตร

บุคคลเหล่านั้นประกอบไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจข้ามชาติ นักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ผู้นำกองทัพ นักเคมียุทธภัณฑ์ ผู้ค้ายาเสพติด ฯลฯ

เกาะเกี่ยวกันเป็นรหัสคล้ายตัวอักษรปรากฏขึ้นอย่างลับๆ ล่อๆ ศิลปินอำพรางการมองเห็นของผู้ชมให้ลางเลือนไม่แน่ชัด จนยากจะบอกได้ว่าใครเป็นใครหากผู้ชมไม่รู้จักบุคคลนั้นมาก่อน

ด้วยการทาสีเดิมของผนังทับลงไปบนภาพวาดบางๆหลายๆชั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากผู้ชมเคยเห็นหรือรู้จักบุคคลนั้นๆ เขาจะสามารถบอกได้ว่าภาพ silhouette บุคคลนั้นคือใคร

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Mural paint)

Zomia พื้นที่ซึ่งอำนาจรัฐไต่ขึ้นไปไม่ถึงในมุมมองของ James C. Scott แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐชาติที่มีพรมแดนติดกับ Zomia จะปฏิเสธความเป็นพื้นที่ไร้รัฐและผลประโยชน์ของ Zomia อย่างหลับหูหลับตา

ในทางกลับกันมีเอกสารหลายฉบับที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำของรัฐรอบๆ Zomia แม้แต่อเมริกาอังกฤษหรือพรรค KMT ของไต้หวันได้กลายเป็นตัวละครที่มีภารกิจและปฏิบัติการพิเศษที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำของไทยและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ Zomia อย่างมีนัยสำคัญ

ใกล้กันที่มุมห้องมีจอมอนิเตอร์ขนาด 49 นิ้ว ติดตั้งอยู่บนผนังเป็นผลงานภาพยนตร์เงียบขาวดำความยาวประมาณ 20 นาที กำลังฉายกระบวนการขั้นตอนตัดและโกนเพื่อทำให้หินขนาดใหญ่เป็นทรงกลม

ภาพเครื่องจักรและใบเลื่อยขนาดใหญ่ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กำลังเฉือนเข้าไปในเนื้อหินอย่างเชื่องช้าโดยไร้ซึ่งเสียงเครื่องจักรหรือเสียงการเสียดสีใดๆทั้งสิ้นจากกิจกรรมภายในภาพเคลื่อนไหวนั้น

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Single-channel, Video full HD, Black and white, Silent, 20 min. 09 sec., Loop)

ภาพยนตร์หรืออาจเรียกว่าภาพเคลื่อนไหวน่าจะตรงกว่า เพราะมันไม่ได้เล่าเรื่องแต่อย่างใดเป็นเพียงการลำดับขั้นตอนให้เห็นถึงรายละเอียดระยะใกล้ๆ ขณะใบเลื่อยหมุนเสียดเข้าไปในเนื้อหิน

ตัดสลับด้วย 3D animation แทนสายตาของผู้ชมให้เคลื่อนเข้าไปในโมเลกุลของหินหยก ผ่านความรู้สึกของแรงเสียดทานอันมหาศาลระหว่างเครื่องจักรกับหิน ระหว่างเทคโนโลยีและธรรมชาติ

“ธนบัตรรุ่นแรกที่มิได้ใช้ภาพประธานเหมาฯ และอาคารมหาศาลาประชาคมของพรรคคอมมิวนิสต์บนหน้าและหลังของธนบัตร”

ผนังอีกด้านหนึ่งศิลปินได้แสดงชุดเอกสารรับรองขนาด A4 ของผลตรวจทางธรณีวิทยาและชีววิทยาจากหน่วยงานราชการฯ และภาพประกอบลักษณะโมเลกุลของสารประกอบ C10H15N และ NaAISi2O6 ขนาด A3

ใกล้กันคือกองผงสารประกอบ NaAISi2O6 ปริมาณ 10g พร้อมธนบัตรราคา 100 หยวนที่ผลิตในปี 1990 เป็นธนบัตรรุ่นแรกๆที่มิได้ใช้ภาพประธานเหมา และอาคารมหาศาลาประชาคมของพรรคคอมมิวนิสต์บนหน้าและหลังของธนบัตร

สารประกอบ NaAISi2O6 และธนบัตรราคา 100 หยวน ผลตรวจทางธรณีวิทยาและชีววิทยา ภาพประกอบลักษณะโมเลกุลของสารประกอบ C10H15N และ NaAISi2O6

ด้วยแนวทางการออกแบบด้านหน้าและหลังธนบัตร ปรากฏภาพใบหน้าคนชาติพันธ์ุและภูเขาสูงชันอันสลับซับซ้อนใน Zomia ชุดนี้มีนัยตามนโยบายยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

รัฐบาลฯได้เปิดตลาดการค้าการลงทุนในเขตปกครองตนเองทางตอนใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์จีนเดียว
ซึ่งร้อยละ 90% ของประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุจำนวนมาก

มันเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายอิทธิผลทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ Zomia อย่างเป็นระบบ ศิลปินได้ประทับตราอักษรจีนด้วยหมึกดำด้านหลังธนบัตรเพื่อตอกย้ำจักรวาลวิทยา กับความเชื่อใหม่ในเงินตราปกรณัม ความว่า “ภูเขาคือแผ่นดินที่ยับย่น และสอยเอาไว้ด้วยด้ายชนิดพิเศษ”


OOO: IV

บทสรุปท้ายเรื่องอาจไม่มีข้อสรุปใดๆให้บันทึก หรืออาจเป็นการใช้หน้ากระดาษดิจิตอลเพื่อยั่วยุสุนทรียะ หรือช่วยเปิดพื้นที่ทางความคิดของบรรดาญาติคีย์บอร์ดให้เกิดการโต้แย้งใหม่ๆ ในตัวทฤษฏี Object Oriented Ontology (OOO) การตีความและถกเถียงในตัวบทถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นของนักการศึกษา

เช่นทักษะและความสามารถของศิลปินในการจัดการกับความล้นเกินทางข้อมูล ในบิ๊กเดต้าเบสก็เป็นประเด็นที่น่าคิดเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพที่ได้ในผลงานวิจัยเชิงทัศนศิลป์ของศิลปิน Hsu Chia-Wei และ Ho Tzu-Nyen ภัณฑารักษ์ใน 2019 Asian Biennial: The Strangers from Beyond the Mountain and the Sea ครั้งนี้

ทฤษฏี OOO อาจเป็นส่วนหนึ่งของการกลายไปสู่ (becoming) หรือเป็นเพียงพัฒนาการของชุดความรู้และทฤษฏีที่กำลังสร้างความยุ่งยากกวนใจต่อความรู้แจ้งทางปัญญา ด้วยเป้าหมายในการสืบค้นตามหาความจริงในวัตถุและอื่นๆ

การย้อนกลับไปสู่แนวคิดบรรพกาลตามความเชื่อแห่งพ่อมดหมอผี การเล่นแร่แปรธาตุหรือความสามารถในการสื่อสารต่างมิติไปจากโลกเชิงประจักษ์ยังเป็นปัญหาเชิงอภิปรัชญาในตัวทฤษฏีที่รอให้ไขความ

นอกจากผลงานของศิลปินคู่ jiandyin ซึ่งใช้วิธีวิทยาชุดดังกล่าวในนิทรรศการ 2019 Asian Biennial: The Strangers from Beyond the Mountain and the Sea

ยังมีศิลปินไทยอีกท่านคือ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ร่วมกับ Alex Gvojic เข้าร่วมแสดงด้วยชุดผลงาน No History in a room with Funny Name 5 ในห้องนิทรรศการที่อยู่ติดกัน

ด้วยผลงานวีดีโอจัดวาง 3 จอแขวนลอยใกล้กันบนผนัง และส่วนประกอบอื่นๆจำนวนมาก เช่น แสงLED, Found object ฯลฯ แสดงออกถึงลักษณะชีวิตภายในของสิ่ง

ผ่านตัวละครบอยไชลด์ซึ่งมีลักษณะ post human ตามทัศนะของ OOO กรกฤตกล่าวว่าเขาเริ่มศึกษาปรัชญานี้ในช่วงปี 2015-16 เขาให้สัมภาษณ์ผู้เขียนเช่นนั้น


OOO: XXX

OOO ได้อิทธิพลแนวคิดจากสำนัก Heidegger ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในแวดวงวิชาการปีค.ศ. 1999 โดย Graham Harman(1968-) แนวคิดและพลวัตรของ OOO ส่งแรงกระเพื่อมยังแวดวงศิลปะ อักษรศาสตร์ การเมืองและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

“ช่วยทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตั้งแต่พระอภัยมณี บั้งไฟพญานาค และวีดีโอเกมส์ ไปยันพระราชบัญญัติ และหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ”

ในฐานะสัตตะเครื่องมือ (Tool-Being) ที่ช่วยทำความเข้าใจสิ่งต่างๆตั้งแต่พระอภัยมณี บั้งไฟพญานาค และวีดีโอเกมส์ ไปยันพระราชบัญญัติ และหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ มันสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ

นี่อาจไม่ใช่ความท้าทายสำหรับวงการศิลปะกระแสหลักในประเทศไทย ที่นิยมสกุลช่างแนวจิตหมายเลขต่างๆ

เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดภัณฑารักษ์ในนิทรรศการศิลปเบียนนาเล่ภายในประเทศ
กับนิทรรศการศิลปเบียนนาเล่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จะสังเกตเห็นว่าสนามทางทัศนศิลป์ในนิทรรศการศิลปะเบียนนาเล่ของภูมิภาคฯ ต่างแข่งขันกันด้วยบทภัณฑารักษ์ที่ท้าทาย และการตั้งคำถามอันแหลมคมต่อปัญหาสังคมร่วมสมัยในประเทศนั้นๆ
หรือของภูมิภาคฯก็ตามที

ภาพสะท้อนทางวัฒธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นได้ด้วยรสนิยมของรัฐและการทำงานเชิงรุก โดยให้ภัณฑารักษ์
ออกแบบจัดวางศิลปะไว้ให้มีประโยชน์ใช้สอย และเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาทางสังคม

ด้วยการตั้งคำถามการวิพากษ์วิจารณ์และการทำงานความร่วมมือ เพื่อนำเสนอและถอดชุดความรู้จากสนามทางทัศนศิลป์ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ

“ทำความเข้าใจโครงสร้างปัญหาของสังคมไทยตามทัศนะและข้อบงชี้ในงานวิจัยของ Charles F. Keyes (1937-)
ขบถผีบุญแห่งสำนักคอร์เนล …. จะได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าหรือไม่ ?”

มันคือหน้าที่หลักของภัณฑารักษ์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคมในวงกว้าง มิใช้การหลีกลี้
ไปสู่ความสุขอันน่าสะพรั่งสะพรึงกลัว คล้ายกับการหลอกตนเองของชนชั้นนำและนักวิชาการเหรียญทอง ในความพยายามเขียนภาพชนบทให้เป็นชาติของยุคสงครามเย็น

หรือหากภัณฑารักษ์ จะศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างปัญหาของสังคมไทยตามทัศนะและข้อบงชี้ในงานวิจัยของCharles F. Keyes (1937-) ขบถผีบุญแห่งสำนักคอร์เนล (พ่อใหญ่ของนักมานุษยวิทยาไทย) จะได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าหรือไม่?

“ผมว่าเบียนนาโล่-เบียนนาเล่ในประเทศไทยอะไรเนี่ย เป็นเพียงกิจกรรมของพวกอีแล้ง-อีฤทธิ์(elite) มีไว้เพื่อแยกตนเองออกจากชนชั้นอื่นๆในสังคมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น…..ก็เท่านั้น”

พี่วินหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เย้ยหยันด้วยสายตาพรางหยิบหมวกกันน็อคยื่นส่งให้ข้าพเจ้าแล้วขึ้นสตาร์ทแมงกะไซด์คู่ชีพ (บรื้นๆ) ฮ่วย…..เบียนน่าโลดดดดดด


อ้างอิงผลงาน

Friction Current: Magic Mountain Project 2019
Mix media installation with Single-channel, Video full HD, Black and white, Silent, 20 min. 09 sec., Loop,
wooden shelf-Black acrylic 29.7 x 42 cm., 5g. NaAlSi2O6 Powder, C10H15N Human urine, Refrigerated cabinet 
120 x 120 x 200 cm., Jadeite Ø 12.7 cm., Marble sphere fountain Ø 60 cm. x 50 cm., Immersion sturgeon waterproof
contact microphone, USB audio interface, controller, 6 sound speakers, Water pump, Paint 29.7 x 42 cm.,
Documentation 21 x 29.7 cm. x 2, Stamp on 100 Yuan-1990 China Banknote, Mural paint.
 Artistic research project by jiandyin                                                                 
 Commissioned by 2019 Asian Art Biennial                                                                        
 Grip and Lighting Equipment Fund: VS Film Fund, Thailand
 Cinematographer: Liam Morgan 
 3d motion graphic: Sawitree Premkamon
 Sound engineer: Chang Huei Ming, Huang Wei
 Artist assistants: Awika Samukrsaman, Atsushi Boonmeewiset
 Geology advice: Thampaphon Sunpa-udom
 Friction Current: Magic Mountain Project 2019

ศิลปะ-การเมือง : กรณีศึกษาภูเขาสีดำ [1/3]

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

บทนำ

จุดเริ่มต้นของ Black Mountain College และโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ถือกำเนิดขึ้นในปีเดียวกัน แต่อยู่คนละฝากฝั่งมหาสมุทร อยู่เขาคนละลูก (ภูเขาสีดำกับเขาพระสุเมรุ )ปรัชญาการศึกษาคนละชุดที่คล้ายคลึงกันและขัดแย้งกันของ John Dewey และ Benedetto Croce คือเบื้องหลังความแตกต่างระหว่างกัน

ศิลปะ-การเมือง กรณีศึกษาภูเขาสีดำ มิใช่การศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อจะบ่งชี้ว่าสถานบันใดพ่อทุกสถาบันอย่างที่พ่นกันตามพนังรั้วกำแพง หรืออาจไม่มีข้อสรุปใดๆให้สรุป หากเป็นเพียงการทดลองสืบค้นลงไปในชั้นข้อมูล บันทึกและจดหมายเหตุ จากบทสัมภาษณ์ และบทสนทนาของเหตุการณ์แวดล้อมละคนสร้าง ต่างกรรมต่างวาระ ต่างเทศะต่างเวลา ต่างศรัทธาความเชื่อเท่านั้น

Chapter: I

จากผลของการประดิษฐ์สร้างความหวาดกลัว จริตวิตกต่อภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เปิดพื้นที่ให้รัฐบาลแสดงบทผู้ปกป้องและขยายการดำเนินภารกิจแทรกแซงในรูปแบบสงครามเย็น ลงไปในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Propaganda หรือวาทกรรมสร้างความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่แพร่ระบาดไปในสังคมอเมริกันช่วงเวลานั้น ดูจะไม่ต่างจากจริตความหวาดกลัวที่คนไทยมีต่อภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิว นิสต์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

แม้ในปัจจุบันวาทกรรมดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และพัฒนาไปสู่การต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิชังชาติโดยหน่วยปฏิบัติการ กอรมน. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ในปี ค.ศ. 1956 Black Mountain College ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันในสังคมจากนโยบายต่อต้านภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลกลาง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Black Mountain College อาจไม่รุนแรงหรือป่าเถื่อนเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ล้อมปราบและเข่นฆ่านักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


แต่ถึงอย่างไรสถาบันศิลปะเล็ก ๆ ในภูเขาสีดำอย่าง Black Mountain College ก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงและต้องปิดตัวไปในที่สุด

Experimental education: Black Mountain College

Black Mountain College ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1933 ปีเดียวกับการก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยหลวงวิจิตรวาทการ (b.1898- 1962) พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (b.1895- 1950) และศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci; b.1892–1962) ชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก


โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี ค.ศ. 1943 เป็นสถาบันศิลปะเล็ก ๆ หน้าพระลานใกล้กับภูเขาพระสุเมรุ (Mount Meru) มีภูมิรัฐศาสตร์ร่วมในพื้นที่ตั้งบริเวณเดียวกันกับมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมได้รับผลกระทบในบริบททางการเมืองไม่มากก็น้อย อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ (1935-2008) เล่าบรรยากาศอึมครึมในช่วงเวลาดังกล่าวว่า


คณบดีคณะจิตรกรรมฯ มีทัศนะไม่เห็นด้วยและได้ห้ามปรามอาจารย์ในคณะฯ ที่เข้าไปมีพฤติกรรมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวการชุมนุมของบรรดานักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ


คณบดีฯในเวลานั้นอาจมีความเห็นว่า ศิลปะชั้นเลิศอันจะนำไปสู่การรู้แจ้งทางปัญญาของมนุษยชาติ ย่อมอยู่เหนือพ้นไปจากเรื่องทางการเมือง หรืออาจตอบสนองนโยบายภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐเพียงเท่านั้นก็เป็นได้ พูดให้แคบก็คือ ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้การเมืองจะยุ่งเกี่ยวกับศิลปะก็ตาม

  • ข้อสังเกตถัดมาในประเด็นนี้ก็คือ แรงจูงในอะไรที่ทำให้ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง?

โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี ค.ศ. 1943

บทเพลงประจำมหาวิทยาลัยอาจเป็นหนึ่งในปฐมบทของคนหนุ่มสาวหลายคน บทเพลงคือจุดเริ่มต้นของวาทกรรมอันทรงพลังชนิดหนึ่งดำรงคงอยู่นอกพื้นที่ทางโสตสัมผัสวิทยา (Audiology) ไปจนชั่วอายุไข ไม่ว่าเราจะร้องมันออกมาหรือไม่ เนื้อร้องและทำนองได้ฝังเข้าไปในช่องหรือร่องหยักของส่วนทรงจำเสียแล้ว


หากเราพิจารณาเพลงศิลปากรนิยมในฐานะตัวบท ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นกุญแจดอกที่หนึ่งทดลองไขประตูบานใหญ่ออก ไปสู่ความเป็นจริงทางสังคมและการค้นพบใหม่ ๆ ไม่แน่ว่ากุญแจดอกนี้อาจเป็นกุญแจผีที่สามารถสะเดาะประตูได้หลายบาน


เพลงศิลปากรนิยมนั้นไม่ปรากฏผู้ประพันธ์คำร้องและไม่ได้ระบุช่วงเวลาในการแต่งคำร้อง เฉพาะทำนองเพลงนั้นนำมาจากเพลง Santa Lucia ในต้นฉบับภาษาอิตาลีโดย เตโอโดโร กอตตราอู (Teodoro Cottrau; 1827–1879) เนื้อร้องตอนหนึ่งมีความว่า ในต้นฉบับภาษาอิตาลีโดย เตโอโดโร กอตตราอู (Teodoro Cottrau; 1827–1879) เนื้อร้องตอนหนึ่งมีความว่า “ศิลปินอยู่เพื่ออะไร ยืนยงเพื่อจรรโลงสิ่งไหน”


จะเห็นได้ว่าตัวบทของเนื้อร้องท่อนนี้แสดงความฮึกเหิมท้าทาย และให้ความสำคัญต่ออาชีพนักศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทิ้งท้ายคำถามเชิงอภิปรัชญา (Metaphysic) จากนั้นเนื้อร้องท่อนต่อมามีความว่า
จากนั้นเนื้อร้องท่อนต่อมามีความว่า

“แต่ศิลปินกลับภาคภูมิในใจที่ได้สร้างเพื่อ มนุษยธรรม”


จะสังเกตเห็นว่าตัวบทที่ปรากฏในเนื้อร้อง 2 ท่อนดูจะย้อนแย้งกันอยู่ไม่มากก็น้อยในแง่ตัวบท เนื้อร้องท่อนที่ 2 ได้แสดง แถลงการณ์ (manifesto) ในฐานะศิลปินด้วยความเชื่อที่ว่านี่เป็นอาชีพที่เสียสละ และเป็นไปเพื่อคุณธรรมของมวลมนุษยชาติ โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามในท่อนที่ 1 ด้วยความมั่นใจ


รูปและความหมายสัญญะที่ปรากฏในคำร้อง ให้จินตภาพเทียบเคียงกับผลงานปรัชญานิพนธ์เชิงสุนทรียศาสตร์จากหนังสือ The Essence of Aesthetics โดย Benedetto Croce (b.1866 – 1952) นักปราชญ์ชาวอิตาเลียนผู้นิยามศิลปะว่าคือญาณทัศน์ (intuition) ไม่เกี่ยวกับความคิดเชิงเหตุและผล


ปรัชญาสุนทรียศาตร์ของ Croce ได้ถูกพัฒนาต่อมาโดยนักการศึกษาและนักปรัชญาอีกหลายท่านอาทิ R. G. Collingwood (1889 1943) และ Corrado Feroci (1892 –1962) นิยามศิลปะเช่นนี้ได้กลายเป็น กรอบคิดอย่างมั่นคงในกลุ่มศิลปินสำนักหน้าพระลานฯ


อาจเป็นความจริงที่ว่าเนื้อเพลงศิลปากรนิยมไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามในใจของผู้แต่ง แต่อย่างไรก็ตามบทเพลงนี้ได้ ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำคำถามใหม่ ๆ ที่ว่า “ทุกวันนี้เรามีศิลปินไว้เพื่ออะไรและศิลปะควรมีประโยชน์ใช้สอยอย่างไรในทางสังคม”

ที่มาภาพ: SU page

ในตอนท้ายของเพลงศิลปากรนิยม ศิลปินได้ตัดพ้อมวลมนุษย์เล็กน้อยด้วยความปรารถนาที่จะมีชีวิตศิวิไล จากนั้นพวกเขาก็ชวนกันเริงรื่น เนื้อเพลงความว่า “มนุษย์เราหากรักศิลป์ สิ่งซึ่งงามวิไล มวลมนุษย์คงสดชื่น รื่นเริงศิวิไล มะมา เรามารื่นเริง มะมา เรามาบันเทิง มะมา เรามารื่นเริง เชิงชื่นรื่นสำราญ”


จากการวิเคราะห์ตัวบทแน่นอนว่าบทเพลงศิลปากรนิยมมิได้มีเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองตามทัศนะที่ว่า ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นั้นอาจอนุมานได้หรือไม่ว่าบทเพลงศิลปากรนิยมบ่งชี้สภาวะการ ‘หวนกลับ’ หรือจมดิ่งสู่โลกความจริงภายในของศิลปินซึ่งเป็นโลกความจริงอีกชุดหนึ่งตามที่ Croce กล่าวอ้าง

แต่ก็ใช่ว่านิยามศิลปะในแนวทางเช่นนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กรณีศึกษาเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ของมวลมหาประชาชนกลุ่ม กปปส. ในปีค.ศ. 2014 อธิการบดีและคณบดีคณะจิตรกรรมฯในเวลานั้นได้นำคณาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว


ยังส่งผลให้รูปแบบกิจกรรมและรูปลักษณ์ของมวลชนและรูปแบบการชุมนุมมีความแปลกใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์นานาประการ อาทิ กิจกรรม Art Lane และ Shutdown Bangkok เป็นต้น


ถึงแม้การเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ของมหาวิทยาลัยศิลปากรครั้งนั้นจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมการขับเคลื่อนดังกล่าวอยู่ในขบวนการของกลุ่ม กปปส. ซึ่งก่อให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพ

กิจกรรม Art Lane และ Shutdown Bangkok

เวลา 20 นาฬิกา 29 นาทีของวันที่ 26 มกราคม ปี ค.ศ. 2014


ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัตินะครับ แต่ผมเรียกร้องให้ทหารออกมาคุ้มครองประชาชน…” เสียงปราศรัยบนเวทีเงียบงันไปชั่วครู่ กล้องแพนกลับไปที่กำนันสุเทพยังยืนนิ่งอยู่บนเวที ริมฝีปากที่แห้งผากทำให้เขาต้องเม้มมันเข้าไป ใช้น้ำลายจากปลายลิ้นลูบไล้ให้ชุ่มชื้น สายตาเศร้าสร้อยระคนผิดหวังของเขากำลังกวาดมองลงไปสู่มวลชนที่แน่นขนัดเบื้องล่าง


ทันใดนั้นเสียงร้องก็เริ่มสอดประสาน ค่อย ๆ ดังขึ้น ๆๆๆๆๆ มวลชนที่รวมตัวอยู่เต็มถนนบริเวณสี่แยกปทุมวันหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต่างพากันร้องตะโกน “ทหารออกมา…ทหารออกมา…ทหารออกมา…ทหารออกมา………..”


เสียงที่ดังจากโทรทัศน์ปกคลุมความเงียบ คนที่โต๊ะอาหารนั่งมองหน้ากัน “เราจะปฏิรูปประเทศโดยไม่ไปเลือกตั้งกันใช่ไหมครับ” เด็กหนุ่มผมยาวเอ่ยถามผู้เป็นพ่อที่นั่งตรงข้าม ตาจ้องกันแต่ไม่มีคำตอบ ผู้เป็นแม่รวบช้อนส้อมบนจานและลุกออกจากหัวโต๊ะ หยิบรีโมทปิดโทรทัศน์แล้วเลี่ยงหนีเข้าครัว ความเงียบงันกลับเข้าปกคลุมบรรยากาศมื้อค่ำในบ้านหลังนี้อีกเช่นเคย


ประเด็นเรื่องศิลปะกับการเมือง เป็นประเด็นปัญหาและข้อถกเถียงกันมานานจากอดีตจนปัจจุบัน จากเรเนซองส์ถึงนีโอคลาสสิค จากโรแมนติกถึงดาดา จาก Antifa ถึง flashmob ไม่ว่าเราจะเชิดชูศิลปะเพื่อศิลปะโดยปฏิเสธการเมือง อย่างไรเสียการเมืองก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศิลปะไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี


Chapter: II


กรณีศึกษาที่น่าสนใจจาก Black Mountain College พื้นที่ทดลองการศึกษาเล็ก ๆ ในหุบเขาสีดำเป็นกรณีการเมืองแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการศึกษาอย่างรุนแรงและได้ทำลายโรงเรียนศิลปะในฝันหรือโรงเรียนต้นแบบของใครหลายคน


Black Mountain College ปิดตัวลงเมื่อปี ค.ศ. 1957 หลังเปิดทำการเรียนการสอนเป็นเวลา 24 ปี และเป็น 24 ปีแห่งความเข้มข้นของการค้นคว้าทดลองเชิงปฏิบัติการ ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติและความมุ่งมั่นในการศึกษาสหวิทยาการ (interdisciplinary)


ประกอบกับความลุ่มลึกในหลักการและปรัชญาการศึกษาแบบก้าวหน้าของ John Dewey (1859 –1952) แนวคิดที่เปิดให้กระบวนการทางศิลปะเป็นแก่นกลางของประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหลาย


ที่วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์ย้อนกลับไปต้นทศวรรษที่ 1970 ที่หมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์เมื่อครั้งที่อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา


หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโททัศนศิลป์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ภายใต้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิ J.D. Rockefeller 3rd Fund Fellowship และเข้าเป็นอาจารย์ประจำ

คณะอักษรศาสตร์และศาลาแปดเหลี่ยมบริเวณสระแก้ว มหาลัยศิลปากร วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์


การเรียนการสอนทัศนศิลป์ที่คณะอักษรฯ ได้กลายเป็นพื้นที่ทดลองการศึกษาทัศนศิลป์ที่แตกต่างไปจากการศึกษากระแสหลักที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางอคาเดมิก อาจารย์ดำรงพัฒนาแนวทางการศึกษาของ Dewey โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและนิเวศทางการศึกษาของคณะฯในเวลานั้น


หากจินตนาการกายภาพทางภูมิศาสตร์ของคณะอักษรฯ ในบริบทเชิงพื้นที่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ภาพทะเลสาบหน้าคณะฯ อาคารโมเดิร์นและโคโลนี่อยู่ไม่ไกลกันนัก


ป่ารกชัฏและความไม่ชัดเจนของอาณาบริเวณห้องเรียนเวลานั้นคือพื้นที่การเรียนรู้ของบรรดานักศึกษาวัยทะโมนที่มาใช้ชีวิตร่วมกันในแบบโรงเรียนกินนอนที่ต่างจังหวัด


พื้นที่หรือสถานที่คือตัวแปรหนึ่งของการสร้างบรรยากาศการทดลองด้านการศึกษา พื้นที่ที่คลุมเครือหรือไม่ชัดเจนกลับส่งผลให้เกิดการทดลองใหม่ ๆ ทางการศึกษาได้น่าสนใจ


แนวทางของหลักสูตรซึ่งสลายกรอบโครงสร้างการศึกษา ที่มุ่งเน้นอคาเดมิกภายใต้นิเวศการศึกษาของคณะจิตรกรรมฯ เวลานั้น มีนัยสำคัญอย่างไรและเป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษาถอดความรู้ต่อไป

ภาพ มล.ปิ่นมาลากุล เปิดวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และภาพสระแก้วบริเวณหน้าคณะอักษรฯ

วารสารภูเขาสีดำพื้นที่ทดลองการศึกษา (Black Mountain: Experimental College) คือ เอกสารชุดความรู้ที่ถอดออกจากกิจกรรมการดำเนินการเรียนการสอน แม้แต่ในด้านการบริหารจัดการของBlack Mountain Collegeที่มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยอื่น ๆ โดยทั่วไปในสหรัฐ อเมริกา


Black Mountain Collage บริหารและจัดการกันเองโดยไม่มีอธิการบดี ไม่มีคณบดีฯ มีแต่ผู้สอน ผู้ช่วยสอน และนักศึกษา สมาชิกทุกคนในชุมชนแห่งนี้มีส่วนร่วมในการจัดการและบริหารด้านต่าง ๆ เช่น ผู้เรียนและผู้สอนออกแบบรายวิชาร่วมกัน ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดว่าจะเรียนอะไรและกำหนดเองว่าจะจบการศึกษาเมื่อไร


นอกจากนั้นพวกเขาร่วมสร้างกิจกรรมเช่น การทำงานที่แปลงผักสวนครัว โครงการออกแบบและก่อสร้างอาคาร และบังกะโลที่พัก สร้างอุปกรณ์ต่างๆในการเรียนการสอนร่วมกัน Black Mountain College คือ โรงเรียนที่ไม่มีหน่วยกิตและไม่ต้องเสียค่าเทอม ฯลฯ

Black Mountain College learning activity

แม้แต่งานในครัวพวกเขาก็แบ่งหน้าที่กันดูแลและรับผิดชอบ Black Mountain College คือโรงเรียนแบบกินนอนและมันได้กลายเป็นคอมมูทางด้านสหวิทยาการสมัยใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้น


นักเรียนและผู้สอน(student and faculty) กินนอนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ในวันหยุดนักศึกษามักไม่ค่อยกลับบ้านหลังอาหารค่ำพวกเขาเต้นรำและจัดการแสดงสดต่างๆ เสมอ


ผู้สอนและนักศีกษาแสดงละครร่วมกัน โดยนำผลงานของแต่ละคนค้นหาความเป็นไปได้ของการนำเสนอศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม (Collaborative and participatory arts) สร้างสรรค์อุปรากรร่วมสมัย


ยังผลให้เกิดการค้นพบใหม่ ๆ ด้วยประสบการณ์ทางศิลปะในชีวิตประจำวันของทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อม ๆ กัน

Black Mountain college learning activity

หลายทศวรรษต่อมาพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรปได้จัดแสดงนิทรรศการถอดความรู้เกี่ยวกับ Black Mountain College ซึ่งแน่นอนว่าบทภัณฑารักษ์ของนิทรรศการหลายครั้งเน้นย้ำไปที่การเรียนรู้เชิงสหวิทยาการซึ่ง Black Mountain College ได้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 50-60


การทดลองมากมายในช่วงเวลานั้นได้ส่งต่ออิทธิพลไปสู่สังคมในวงกว้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไม่เฉพาะแต่แวดวงศิลปะทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม สื่อผสม นิวมีเดียเท่านั้น หากยังแทรกซึมเข้าไปสู่สังคมการเมืองและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาและของโลกอีกด้วย

วารสารชุดความรู้ของ Black Mountain College


Chapter: III

มีรายงานข่าวลือสะพัดเมื่อ FBI ยืนขอต่ออัยการเมืองแชลอดวิว นัยเพื่อตอบข้อกังขาของชาวบ้านที่สงสัยในมนต์ดำแห่งภูเขาสีดำ


“เขาว่ากันว่าภูเขาสีดำเป็นที่สุมหัวกันของพวกนอกศาสนา พวกรักร่วมเพศ และพวกขี้ยา”


เดฟพูดพรางเคาะบุหรี่ใส่ฝีปาก กาแฟดำกรุ่นหอมบนโต๊ะเรียกร้องให้ซิปมันเข้าไปผสมกับควันบุหรี่ที่พึ่งซื้ดให้โล่งในลำคอ


ชิตท์” พีเทอร์ กังวานสบถเหมือนมีขี้ติดอยู่ริมฝีปาก (สำนวนแบบรงค์) เขาหยิบไม้ม๊อปหลังเคาน์เตอร์บิดน้ำแล้วเดินถูไปบนพื้นจากด้านในมาหยุดที่เดฟตรงประตู


เดฟคุณไม่รู้ใช่ไหม มีพวกคอมมิวนิสต์สอนอยู่ที่นั่นด้วย” พีเทอร์ยื่นมือหยิบที่เขี่ยบุหรี่จากโต๊ะของเดฟแล้วเดินกลับไปหลังเคาน์เทอร์เหวี่ยงไม้ม๊อปเข้าเก็บในที่ของมันแล้วกวาดก้นบุหรี่จากที่เขี่ยลงถังทิ้ง


กอธแดมอิตท์ ยังมีนิคเกอร์เรียนที่นั่นอีกด้วย” พีเทอร์พูดจบกระแทกที่เขี่ยบุหรี่ซึ่งเช็ดจนสะอ้านลงโครมใหญ่และขยับมันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยบนเคาน์เทอร์นั้น


เดฟกระดกกาแฟที่ขอดถ้วยลงคอสายตาจับจ้องออกไปยังความว่างเปล่าบนท้องถนนแล้วลุกขึ้น ผมสาบบาน…พีเทอร์ ถ้าผมเอาพวกมันขึ้นศาลไม่ได้ผมยอมลาออก พวกมันทำลายความสงบของเมืองนี้และนี้เป็นหน้าที่ของผมเดฟเน้นเสียงหล่อแล้วเดินไปที่รถ Asheville PD ของเขาซึ่งจอดอยู่หน้าร้าน บดขยี้ก้นบุหรี่ด้วยรองเท้าหนังมันวาวกับพื้นถนนแล้วขึ้นรถบึ่งออกไป

สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือ FBI ได้ออกคำสั่งให้ทำการสืบสวนในทางลับที่ Black Mountain College โดยเปิดเผยมูลเหตุเอกสารในการสืบสวนยื่นต่อ Carolina Public Press ผ่านข้อกฎหมายเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้


เอกสารดังกล่าวอธิบายถึงมูลเหตุจูงใจขบวนการและขั้นตอนของปฏิบัติการในการสืบสวนครั้งนั้น ในเอกสารระบุวันที่ 3 เมษายน ปี 1956 Cecil Pate อัยการสูงสุดและองค์การทหารผ่านศึกแห่งเมือง Winston-Salem ได้เรียกประชุมร่วมกับ FBI และหน่วยงานอื่น ๆ


มีรายงานว่าองค์การทหารผ่านศึกได้จัดการและควบคุมปฏิบัติการตรวจสอบ Black Mountain College และได้แสดงความกังวลที่องค์การฯเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการมอบทุนการศึกษา G.I. bill ในลักษณะทุนให้เปล่าประจำปี แก่ Black Mountain College


ในรายงานอ้างว่านักศึกษาที่นี่ไม่เข้าเรียนหรือไม่มีการสอนในห้องเรียนแบบปกติ มีหลักฐานแสดงว่าสถาบันแห่งนี้ไม่มีบันทึกการวัดผลการเรียนของนักศึกษา องค์การทหารผ่านศึกจึงได้ให้คำปรึกษาแก่ FBI เพื่อเข้าสืบสวนลงลึกในรายละเอียดของกิจวัตรประจำวันภายในสถาบันฯ

บรรยากาศการเรียนการสอนที่ Black Mountain College

หลังจากการประชุมเจ้าหน้าที่องค์การทหารผ่านศึก พวกเขาได้ยื่นรายงานสรุปให้คณะกรรมการด้านการศึกษาแห่งรัฐ North Carolina เพื่อถอนใบอนุญาตรวมถึงการยกเลิกงบประมาณที่บริจาคให้แก่สถาบัน


นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 1950 เป็นต้นมา จำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเริ่มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าในปี ค.ศ. 1956 มีนักศึกษาจำนวน 9 คน จาก 23 คน อยู่ในความดูแลด้านการเงินโดยองค์การทหาร ผ่านศึก (VA)


ขณะที่ทุนรอนในการจัดการศึกษาได้มาถึงจุดเสื่อมโทรม นักศึกษาและทางคณะประกาศขายเปียโน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อช่วยเยี่ยวยาสภาพคล่องทางการเงินของ Black Mountain College


นักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างลงความเห็นว่าการขยับขององค์การทหารผ่านศึกครั้งนั้นคือหายนะ และมรณ กรรมทางการศึกษา ไม่ใช่เพียงการระงับความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สถาบันฯในฐานะผู้มอบทุนสนับ สนุนการศึกษา แต่ในขณะเดียวกัน VA ได้กลายเป็นเจ้าภาพในการจัดการและทำลายความก้าวหน้าทางการศึกษาเสียเอง

นักศึกษาที่นี่ไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน …

บันทึกการสอบสวนของ FBI ระบุว่า “การจัดการเรียนการสอนของ Black Mountain College มีลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสถาบันการศึกษาทั่วไปตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่นี่ไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน (Do nothing all day) พวกเขาอาจรวมตัวกันที่ทะเลสาบหรือหน้าอาคาร”

Lake Eden, Black Mountain: The Art of Doing Nothing

…บ้างแช่น้ำ อาบแดด เล่นกีต้าร์ บางพวกกระโดดไปมาตามต้นไม้ที่เชิงเขา แต่พอตกดึกในเวลาค่ำมืดนักศึกษาอารมณ์ศิลป์ขึ้นมา และต้องการที่จะวาดรูปหรือเขียนกวีสักบท เขาจะเดินไปเรียกอาจารย์ผู้สอนที่บ้านพักเดี๋ยวนั้นเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนให้คำปรึกษาแนะนำได้โดยการส่วนตัว”

บรรยากาศแห่งเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของ Black Mountain College ได้ดึงดูดความสนใจใคร่รู้จากสาธารณะชนมากยิ่งขึ้นและนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยที่ว่า Black Mountain College ได้รับการอุปถัมภ์โดยพวกคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติการแทรกซึมอยู่ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นจริงหรือไม่?

Campus map: The Service House #9, เชิงเขา Rocky Mount ใกล้กับทะเลสาบอีเดน


โปรดติดตามตอน 2

เอกสารอ้างอิง

ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchen

ศิลปะ-การเมือง : กรณีศึกษาภูเขาสีดำ [2/3]

baannoorg Publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

Chapter: IV

“…การกระทำของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิทางการศึกษารบกวน และทำ ลายบรรยากาศสร้างสรรค์อันสานติภายในแคมพัสอย่างสิ้นเชิง…”

นักศึกษาและคณะผู้สอน ได้กล่าวถึงความปัญญาอ่อนและปัญหาที่ตามมาเมื่อพวกเขาเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์ในชุดคลุมที่มีตราสัญลักษณ์ FBI กำลังด้อม ๆ มอง ๆ อยู่รอบ ๆ แคมพัส

“มันเป็นช่วงเวลาแห่งความหายนะ” 

Robert Creeley (1926 – 2005) นักศึกษา กวี และผู้ช่วยสอนที่ภาควิชาอักษรศาสตร์(literature)กล่าว

“พวกนักศึกษาไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ระหว่างการสืบสวนของ FBI พวกเขาไม่ตอบคำถามและไม่ถามหาคำตอบ” 

Creeley ยักไหล่ขับเน้นเสียงให้แจ่มชัด ตาซ้ายที่บอดมืดของเขาไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อบทกว

Black Mountain Poets: Charles Olson, Robert Creeley, Robert Duncan and Denise Levertov, Josef Albers, John Cage, M. C. Richards and Hilda Morley.

ส่วน Dorothea Rockburne (1932-) นักศึกษาจิตรกรรมอีกคน เธอเป็นคนสร้างความงุนงงแก่ FBI ด้วยเล่ห์กลหลายวิธี เช่นการแสดงความขบถต่อเจ้าหน้าที่


เธอเล่าว่า “พวก FBI เข้ามาทุกวัน ดูเหมือนอะไรบางอย่างที่คุณเคยเห็นในหนังเกรดบีหรือเกรดซี พวกนั้นจะสวมเสื้อชุดปฏิบัติการที่คุณสามารถมองเห็นได้จากระยะมากกว่าหนึ่งไมล์…. แน่นอนพวกเราทำการแสดงสดให้พวกเขาดู


พวกเรานัดกันไม่สวมรองเท้าเดินเปลือยตีน(สำนวนแบบรงค์)ในช่วงกลางฤดูหนาว และมักจะจุดไม้ขีดบนฝ่าตีนที่เปลือยเปล่าเพื่อจุดบุหรี่สูบต่อหน้าพวกเขา มันเป็นการยืนยันความรู้สึกนึกคิดของพวกเราถึงความเลวร้ายที่สุดที่มีต่อภาครัฐ “

แน่นอนว่าพวกเราไม่เคยตอบคำถามพวก FBI สักคำถามเดียว เพราะการกระทำของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิทางการศึกษา รบกวนและทำลายบรรยากาศสร้างสรรค์อันสานติภายในแคมพัสอย่างสิ้นเชิง ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


Rockburne อธิบายภาพเหตุการณ์ให้เราฟังเหมือนมันเพิ่งผ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เธอคือนักศึกษาเพียงไม่กี่คนที่ได้ลงเรียนปรัชญาและประวัติศาตร์คณิตศาสตร์ ในวิชา Geometry for Artists กับ Max Dehn นักคณิตศาสตร์ นักเลขาคณิต และนักปริภูมิคณิตศาสตร์ทฤษฏี ที่ Black Mountain College


มันเป็นวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้สอนคณิตศาสตร์ แต่เป็นวิชาที่สอนให้ศิลปินคิดอย่างเป็นคณิตศาสตร์ “ Rockburne พูดถึง Dehn ในฐานะ Turning point

Dorothea Rockburne, an installation view Dia: Beacon NY

Paul Radin (1883 – 1959) นักมานุษยวิทยาและผู้สอนที่สถาบัน เป็นผู้หนึ่งที่ถูก FBI ติดตามความเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ รายงานฉบับนี้ระบุว่า Radin เป็นฝ่ายซ้ายด้วยสนับสนุนแนวคิดความเสมอภาคและภารดรภาพระหว่างผิวสี และถูกป้ายสีให้กลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อรัฐ


หลังจากที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน Paul Radin เดินทางหลบหนีไปอยู่ Switzerland ในปีค.ศ. 1952 และทำงานให้กับ Bollingen Foundation ร่วมกับ C. G. Jung ที่มูลนิธิเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและงานหนังสือวารสารของมหาวิทยาลัย


Radin เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาในปี 1956 โดยเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Brandeis และถือเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นแรก ๆ ที่ทำการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาชนเผ่าอินเดียแดงตั้งแต่ปี 1908 เป็นต้นมา และเป็นผู้รวบรวมคำด่าในตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองในหลายทวีป

สื่อต่อต้าน Red Scare ภัยคุมคามคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในวันที่ 21 กฏาคม 1956 อัยการกลาง James M. Baley ได้เข้าพบพนักงาน FBI ซึ่งเกี่ยวข้องในการลงพื้นที่สืบสวนจากเมือง Charlotte และยืนยันการสืบสวนอย่างเป็นทางการว่าพยานหลักฐานที่จะเอาผิดทางกฏหมายต่อ Black Mountain College ยังไม่เพียงพอในการส่งฟ้องต่อศาล

เขาได้กล่าวในท้ายที่สุดว่าจะไม่มีการดำเนินการสืบสวนเพิ่มเติมอีกต่อไปและให้หยุดปฏิบัติการสืบสวนทันที FBI จึงยุติการปฏิบัติหน้าที่สืบค้นพยานหลักฐานภายใน Black Mountain College พวกเขาใช้เวลาประมาณพียงเดือนเศษ ภูเขาสีดำได้ถูกปกคลุมไปด้วยความสิ้นหวัง


การเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด และปิดตัวลงด้วยขาดทุนรอนสนับสนุนในการจัดการศึกษาจนอีกหลายทศวรรษ Black Mountain College ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในสถาบันทดลองด้านการศึกษาที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกเช่นเดียวกับสถาบันเบาเฮาส์ซึ่งถูกนาซีสั่งปิด


Chapter: V


หลังจากที่ John Andrew Rice (1888 – 1968) นักสังคมศาสตร์-นักการศึกษาหัวก้าวหน้า Theodors Dreier (-1997) วิศวกร-นักการศึกษา เพื่อน ๆ และนักศึกษาบางส่วนถูกขับไล่จาก Rollins College เมือง Winter Park รัฐฟลอริดา เนื่องจากพวกเขาประท้วงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา


Rice และ Dreier ร่วมกันก่อตั้ง Black Mountain College ขึ้นในปี ค.ศ. 1933 โดยได้ริเริ่มวางรากฐานแนวทางการศึกษาสหศาสตร์ด้วยดุลยภาพในความเป็นมนุษย์ การลงมือกระทำ และศิลปะในฐานะศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และเปิดเสรีการศึกษา

ภาพ: BMC Left: Studies Building, Designed in 1940 by A. Lawrence Kocher, the building was completed in 1941. An image in 2007

John Andrew Rice ได้ทะลายกำแพงชนชั้นระหว่างผู้สอนกับผู้ศึกษา และสร้างชุมชนการศึกษาหัวก้าวหน้าด้วยการทดลองต่าง ๆ ในเชิงสหวิทยาการตามหลักปรัชญาการศึกษาของ John Dewey ซึ่งเชื่อว่าการศึกษานั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการกระทำ (Learn by doing) และอาศัยมือของเราเองเป็นผู้สอน


หลักปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism) ตามทัศนะของ Dewey นั้นเชื่อว่าประสบการณ์ตรงตามที่เป็นจริงจากการลงมือปฏิบัติของมนุษย์จะนำไปสู่ความรู้และความจริง


แนวทางปฏิรูปการศึกษาของ Dewey ระบุว่าไม่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นผู้เรียน แต่ความสำคัญของหลักการศึกษาแบบก้าวหน้าจำเป็นต้องอาศัยการมีประสบการณ์ร่วมกันของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ


โดยเน้นให้ผู้สอนทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลพื้นฐาน จากนั้นต้องส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่มซึ่งนั่นคือกลไกที่ทำให้นักศึกษาเกิดการปะทะสื่อสารพูดคุยหรือแม้แต่การโต้แย้งถกเถียง

Dewey มองว่านี่คือคุณค่าในความร่วมมือกันของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ผู้สอนจำเป็นต้องเฝ้าสังเกตต่อความสนใจและเป้าหมายของนักศึกษา และช่วยนักศึกษาพัฒนาแนวทางและทักษะในการแก้ปัญหา


แน่นอนว่าปรัชญาการศึกษาของ John Dewey (1859-1952) คือขั้วตรงข้ามกับปรัชญาแนวคิดของ Benedetto Croce (1866-1952) ซึ่งเชื่อในจิตนิยม และเชื่อว่าการสำแดงออกของอารมณ์ความรู้สึกนั้นคือเนื้อตัวของศิลปะมิใช่ความคิดเชิงเหตุผล


ศิลปะเป็นมโนคติอันบริสุทธิ์ของศิลปิน” คำกล่าวของ Croce แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงมโนทัศน์ของผู้สร้างผลงานศิลปะไม่มากก็น้อย ในกรณีนี้ปรัชญาสุนทรียศาสตร์ตามแนวคิดจิตนิยมสัมบูรณ์ของ Croce ได้ส่งผลให้ความจริงแท้กลายเป็นโลกภายในที่คู่ขนานไปกับปรากฏการณ์ของโลกภายนอก


การสำแดงอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกศิลปินจึงกลายเป็นช่องทางที่ทรงพลัง ในการเชื่อมโยงโลกความจริงทั้งสองด้านเข้าหากัน ศิลปะในทัศนะของ Croce จึงเป็นญาณทัศน์ที่นำพาศิลปินเข้าถึงโลกความจริงภายในตนเองซึ่งเป็นโลกที่ บริสุทธิ์กว่าโลกความจริงภายนอก


ญาณทัศน์หรือจินตภาพการหยั่งเห็นภายในใจนั้นเป็นสิ่งทางทฤษฏี มิใช่สิ่งที่เน้นไปในทางปฏิบัติเนื่อง จากศิลปะที่แท้จริงเป็นขบวนการที่สำเร็จเสร็จสิ้นสมบรูณ์ภายในหัวของศิลปิน


ในขณะที่ศูนย์กลางการเรียนรู้ตามแนวทางการศึกษาของ Dewey เชื่อว่าศิลปะเป็นเพียงเครื่องมือพื้นฐานในการสร้างประสบการณ์ทำให้มนุษย์เรียนรู้ความจริงตามที่มันเป็นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

The Essence of Aesthetics: Benedetto Croce / Art as Experience: John Dewey

แน่นอนว่าปรัชญาสุนทรียศาสตร์ของ Dewey ซึ่งมีความย้อนแย้งในตัวเองได้ถูกโจมตีโดย Croce เช่นกัน ถึงขนาดมีการกล่าวหาว่า Dewey ขโมยแนวคิดและผลงานของตนพร้อมข้อหักล้างที่ว่าแนวคิดของDewey นั้นมิได้วางอยู่บน รากฐานของปรัชญาแนวปฏิบัตินิยม


โดยเฉพาะหนังสือ Art as Experience นั้นถูกโจมตีว่าเป็นงานนิพนธ์ที่ใช้หลักปรัชญาของHegelไม่ต่างอะไรจากแนวคิดของ Croce ซึ่งประกาศตนว่าเป็นเฮเกลเลียนศึกษาและสนับสนุนความเป็นอภิมนุษย์ของศิลปิน


นิพาดา เทวกุล ระบุในงานวิจัยเรื่องความคิดทางสุนทรียศาสตร์ของ Croce เกี่ยวกับความหมายของศิลปะอธิบายว่า Croce มีทัศนคติต่อศิลปินว่าแตกต่างไปจากช่างไม้ช่างทอง ฯลฯ อย่างสิ้นเชิง เพราะใคร ๆ ก็เป็นช่างไม้ที่มีความสามารถได้เมื่อทำการฝึกฝนอย่างยาวนาน แต่ศิลปินที่แท้นั้นไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ ถึงแม้คนนั้นจะรู้วิธีลงสีหรือวิธีการแกะสลักก็ตาม เขาเชื่อว่าศิลปินที่แท้ไม่สามารถสร้างหรือฝึกหัดกันได้ ศิลปินจึงเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถใช้ภาษาที่มิใช่ภาษาดังเดิมของมนุษย์ (Primitive languages)

มุมมองของ Croce ต่อศิลปินว่าคือผู้ที่สามารถมองเห็นความงามในสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายกว่าคนธรรมดา ๆ จึงหมายความว่า คนธรรมดาไม่มีญาณทัศน์ (Intuition) อย่างที่ศิลปินมี


ปัญหาเชิงทฤษฏีระหว่าง Croce และ Dewey ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า หากพิจารณาปัญหาเชิงปรัชญาจะพบว่าทั้งสองชุดแชร์พื้นที่แนวคิดจิตนิยมของเฮเกลร่วมกัน ความแตกต่างที่สังเกตชัดระหว่างทั้งสองคือการที่ Dewey ผสานแนวคิดจิตนิยมเข้ากับแนวคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน


ยังผลให้ปรัชญาแนวคิดของ Dewey ปฏิเสธความเป็นอภิมนุษย์ โดยตอกย้ำแนวคิดปฏิบัตินิยมที่ถือว่าความรู้ทุกชนิด เกิดจากประสบการณ์ตรงทางประสาทสัมผัส เช่น ตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย


เมื่อกล่าวถึงทัศนะแห่งความเป็นจริง ปฏิบัตินิยมจะเน้นผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ใช้สอยมากกว่าอภิปรัชญา และเป็นไปได้ว่าปรัชญาของ Dewey มีฐานความคิดเชิงประจักษ์นิยมแบบ Kant และจิตนิยมแบบเฮเกล แต่เขามิได้ปฏิเสธปรัชญาเหตุผลนิยม


รายละเอียดของประเด็นปัญหาอาจช่วยให้เราทำความเข้าใจถึงจุดแตกหักหรือความแตกต่างระหว่าง Croce และ Dewey ได้อย่างมีนัยสำคัญ


โปรดติดตามตอน 3

เอกสารอ้างอิง

ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchenia 

ศิลปะ-การเมือง : กรณีศึกษาภูเขาสีดำ [3/3]

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

Chapter: VI

“ความเคารพคือสิ่งคู่ขนานระหว่างศิลปะ ชีวิต และการศึกษา”

เมื่อปรัชญาของ Dewey นำมาพัฒนาต่อที่ Black Mountain College พื้นที่ทดลองการศึกษาซึ่ง Rice เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นศิลปินได้วางรากฐานไว้อย่างดี จากนั้นเขาได้ติดต่อประสานงานเพื่อเชิญ Josef Albers ซึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองจากเบาเฮาส์ ประเทศเยอรมนี มาพำนักเป็นศิลปินและผู้สอนประจำ ตลอดจนวางรากฐานหลักสูตรศิลปะและการออกแบบคนแรกของสถาบันแห่งนี้


Josef Albers (1888–1976) จบการศึกษาจากสถาบันเบาเฮาส์ในปี ค.ศ. 1923 และเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนจากนั้นมา จนในปี ค.ศ. 1925 Walter Gropius มอบวิทยฐานะแก่ Albers ในฐานะมาสเตอร์รุ่นใหม่ของเบาเฮาส์และในปีเดียวกันนั้นเขาแต่งงานกับ Anneliese (Anni) Fleischmann (1899–1994) นักศึกษาที่เบาเฮาส์


ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1933 Josef Albers และภรรยาของเขา Anni Albers เดินทางโดยเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ Black Mountain College เมือง Asheville รัฐ North Carolina ซึ่งทั้งสองได้กลายเป็นกำลังหลักในงานสอนของสถาบันจนถึงปี ค.ศ. 1949

Josef Albers & Anni Albers at BMC

เมื่อ Albers เดินทางมาถึง Black Mountain College นักศึกษาที่รอต้อนรับถามขึ้นว่า “คุณจะสอนอะไรพวกเรา” Albers ตอบว่า ” Albers ตอบว่า “ทูโอเพ่นอายส์” (to open eyes)” นี้คือเป้าหมายความเป็นครูของเขา และหัวใจการเรียนการสอนของ Albers อยู่ที่ การสอนในการรับรู้ (teaching of perception) โดยเฉพาะการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุทัศนะต่าง ๆ ในสนามทัศน์ (visual field)


ในวิชาออกแบบพื้นฐาน Albers มักจะเน้นย้ำแก่นักศึกษาให้ระมัดระวังถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในทัศนะความเป็นจริง เขากล่าวว่า เส้น รูปทรง สี และวัสดุ ไม่ควรเกิดขึ้นโดยตัวมันเองลอย ๆ สิ่งเหล่านั้นควรเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือกันและกัน และไปด้วยกันได้ดี เขาย้ำเสมอว่ามันต้องสนับสนุนกันและไม่ฆ่ากัน

Albers มองธาตุทัศน์ต่าง ๆ ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในธรรมชาติ มนุษย์ และสังคม โดยการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ของธาตุทัศน์กับมนุษย์ได้พัฒนาไปสู่มโนทัศน์ที่ว่าด้วย “การเคารพ” (respect)”

Josef Albers class at BMC


เขากล่าวว่าเราต้องเคารพวัตถุอื่น ๆ หรือสี หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน รวมถึงให้ความเคารพต่อคนที่คุณไม่สนใจ นักศึกษาคนหนึ่ง ได้บันทึกในชั้นเรียนของ Albers ไว้ว่า


ความเคารพคือสิ่งคู่ขนานระหว่างศิลปะ ชีวิต และการศึกษา


ในปี ค.ศ. 1948 ทาง Black Mountain College ตกลงติดต่อประสานให้ Bertrand Goldberg สถาปนิกจากชิคาโกรับหน้าที่ผู้สอนในภาคเรียนฤดูร้อนแต่ถูกยกเลิกกะทันหัน Goldberg แจ้งให้ทางสถาบันทราบว่าเขาได้หาคนสอนแทนไว้แล้ว นั่นคือ Buckminster Fuller


ในเวลานั้น Albers ดูจะรู้สึกเป็นกังวลไม่ใช่น้อยที่ทางสถาบันต้องทำหนังสือเชิญบุคคลที่ไม่รู้จักมาสอนในนาทีสุดท้าย เขาจึงชะลอจดหมายเชิญออกไป และในที่สุด Buckminster Fuller ก็เดินทางมาถึง Black Mountain College หลังจากเปิดภาคเรียนไปแล้วสองสัปดาห์


จากนั้นเพียงสองวัน Albers ได้เขียนจดหมายถึง Goldberg เพื่อขอบคุณที่ส่ง Fuller ผู้ที่ทำการบรรยายได้ถึงสามสี่ชั่งโมงทุกคืน และทางสถาบันหวังว่า Fuller จะกลับมาอีกในภาคเรียนฤดูร้อนปีถัดไป


ส่วนช่วงฤดูหนาวนั้น Bucky Fuller สอนและบรรยายที่ Institute of Design ที่ชิคาโกซึ่งเขาพำนักและร่วมงานกับนักศึกษาจาก Black Mountain College สองคนได้แก่ Warren Outten Mary และ Phelan Outten ที่ติดตามไป

Buckminster Fuller at BMC


ในปี ค.ศ. 1948 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Buckminster Fuller เมื่อเริ่มการสอนภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College จะเห็นได้ว่าทฤษฏีแนวคิด Dymaxion ของ Bucky ยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดของการผลิตใช้จริง ผลงานมากมายที่คิดค้นขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโมเดลต้นแบบเช่น วิจิตตา เฮ้าส์ (Dymaxion Dwelling Unit) บ้านพักอาศัยทุนต่ำสำหรับวิกฤตหลังสงคราม


การศึกษาภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College เปิดโอกาส Bucky Fuller ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ครั้งแรกในชีวิต เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ขับเคลื่อนวิชาชีพของเขาในเวลาต่อมา และทำให้มีเวลาย้อนกลับไปพัฒนาฉากทัศน์ของโลกกับเทคโนโลยีด้วยโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ของ geodesics หลังจากประสบความสำเร็จในการทำแผ่นคลี่แผนที่โลก หรือที่เรียกว่า Dymaxion World Map ในปี ค.ศ. 1946

ในวิชาของ Bucky Fuller มักมีผู้เข้าร่วมล้นชั้นเรียน ทั้งที่นักศึกษาลงทะเบียนเพียง 4 คนเท่านั้น และต่อมานักศึกษาทั้ง 4 ได้เป็นสถาปนิกและนักออกแบบและก่อสร้างที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Albert Lanier, Lu Lubroth, Warren Outten และ Paul Williams ส่วน Kenneth Snelson (1927 –2016) เด็กหนุ่มจาก Oregon นักศึกษาอีกคนที่ติดตาม Bucky แต่ไม่ได้ลงทะเบียนวิชาสถาปัตย์ เขากลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในเวลาต่อมาเช่นกัน

Public sculpture: Kenneth Snelson


ไม่เฉพาะนักศึกษาจากวิชาอื่น ๆ เท่านั้นที่ชอบเข้าฟังบรรยายของ Bucky Fuller บรรดาผู้สอนและผู้ช่วยสอนก็ยังเข้าร่วมชั้นด้วย โครงการภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการเชื้อเชิญศิลปิน นักคิด นักดนตรี หลากหลายเข้ามาทำโครงการร่วมกับนักศึกษา


ครั้งหนึ่ง Bucky Fuller ได้ร่วมแสดงละครเรื่อง Baron Medusa โดย Arthur Penn (1922 –2010) นักศึกษาในเวลานั้นเป็นผู้กำกับ นอกจาก Bucky Fuller แล้วหลักสูตรภาคฤดูร้อนยังได้ John Cage (1912–1992) นักประพันธ์เพลง นักทฤษฏีทางดนตรีและศิลปินผู้มาก่อนกาล ผู้บุกเบิกเปิดพื้นที่และการตีความในดนตรี


Merce Cunningham (1919 –2009) นักเต้นผู้ชื่นชอบการทำงานร่วมกับศิลปินและการข้ามศาสตร์ร่วมกับ John Cage, David Tudor, Brian Eno, Robert Rauschenberg, Bruce Nauman, Andy Warhol, Roy Lichtenstein, Frank Stella, and Jasper Johns และเป็นผู้ก่อตั้ง Merce Cunningham Dance Company ในปี ค.ศ. 1953


Edgar Kaufmann Jr., (1910 –1989) ผู้อำนวยการแผนกออกแบบอุตสาหกรรมที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MOMA) นิวยอร์คเวลานั้น และโปรเฟสเซอร์ด้านสถาปัตย์และประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย


Willem de Kooning (1904 –1997) ศิลปินจาก New York ผู้ได้ชื่อว่าศิลปินแนวหน้าใน Abstract Expressionist มีช่วงเวลาที่พิเศษสุดในการพัฒนาผลงานของตนระหว่างพำนักและสอนอยู่ที่ Black Mountain College และผลงานชิ้นนั้นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ(Turning point) ของKooning

ผลงานชิ้นที่ Willem de Kooning สร้างขึ้นระหว่างพำนักที่ Black Mountain College ปีค.ศ. 1948.

ในเวลาต่อมา Beaumont Newhall (1908 –1993) นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ภัณฑารักษ์ นักเขียน และศิลปินถ่ายภาพคนสำคัญ ได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนให้ Bucky Fuller ในวิชาสถาปัตยกรรมอีกด้วย

ในโครงการภาคฤดูร้อนปีต่อมา (1949) Bucky Fuller ได้ชวนเพื่อนอาจารย์จากชิคาโก ได้แก่ Emerson และ Diana Woelffer, John และ Jano Walley มาร่วมโครงการฯ และนาฏศิลปินจากอินเดียสองคนคือ Vashi และ Praveena ผู้เป็นภรรยา ซึ่งได้รับทุนศึกษาวิจัยที่มหาวิยาลัยชิคาโก มาสอนในวิชาเต้นรำภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College อีกด้วย

John Cage, Merce Cunningham, Elaine de Kooning, Robert Rosenberg at BMC

มิตรภาพความสัมพันธ์ของเหล่าคณาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1949 มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนา โครงการจีโอเดสิกโดม ของ Bucky Fuller จนประสบผลสำเร็จในที่สุด หลายคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น John Cage, Merce Cunningham, Ruth Asawa, Theodore และภรรยา Barbara Dreier และ Josef กับ Anni Albers ร่วมกับภาควิชาฯ


Chapter: VII


ปัจจุบันแนวทางการศึกษาแบบก้าวหน้าของ Black Mountain College ได้กลายเป็นต้นแบบความคิดที่ท้าทายระบบการศึกษาทัศนศิลป์แบบประเพณีนิยม ซึ่งพัฒนาขึ้นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (post war education) แม้ทุกวันนี้ข้อเรียกร้องต่อแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของไทยยังไปไม่ถึงไหน


ศิลปะ-การเมือง กรณีศึกษาภูเขาสีดำ อาจไม่ใช่เพียงการพิจารณาประวัติศาสตร์การทดลองการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ แนวคิดจิตนิยมกับปฏิบัตินิยมของ Benedetto Croce และ John Dewey เท่านั้น แต่เป็นการพิจารณาถึงความเป็นไปได้และทางเลือกอื่น ๆ ในแนวทางการศึกษาแบบก้าวหน้าของโรงเรียนประณีตศิลป์หรือมหาวิทยาลัยศิลปากร ปฐมบทและมูลฐานของระบบการศึกษาทัศนศิลป์ในประเทศไทยที่ส่งอิทธิพลถึงปัจจุบัน


หากพิจารณาคำกล่าวของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ซึ่งบันทึกโดยศิษย์ในฐานะคำพูดซึ่งเป็นชุดความจริงชนิดหนึ่งก็จะพบว่า ท่านแสดงทัศนะที่สอดคล้องกับแนวคิดของ Benedetto Croce เมื่อกล่าวว่า “พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน…แล้วจึงเรียนศิลปะ” และสอดคล้องกับแนวคิดของ John Dewey เมื่อกล่าวว่า “ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น…แต่สอนให้เธอรู้จักใช้ชีวิต


ศิลปะคือญาณทัศน์ หรือ ศิลปะคือประสบการณ์ คำพูดเชิงอุปไมยของศาสตร์จารย์ ศิลป์ พีระศรี ยังคงผลิตซ้ำและตอกย้ำความจริงบางประการในเป้าหมายทางการศึกษาและข้อโต้แย้งในแวดวงทัศน์ศิลป์ของไทยต่อไป เป็นไปได้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วความเชื่อที่ว่าศิลปะคือญาณทัศน์หรือศิลปะคือประสบการณ์ ได้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปในที่สุด


ไม่ว่าศิลปะจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ถึงอย่างไรการเมืองแม่งก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศิลปะวันยันค่ำ…พี่เชื่อไหม…ผมเคยเอานกหวีดพ่อที่แขวนบนผนังห้องรับแขกไปทิ้ง” เด็กหนุ่มผมยาวคนนั้น วันนี้ตัดผมสั้นทรงสมัยพูดพรางเดินออกไปจากศาลาแปดเหลี่ยม ตรงไปที่ตลิ่งล่วงพันลำที่เตรียมไว้ พร้อมกลัดไม้ขีดออกจากกระเป๋า ขีดไฟให้ลุกละเลียดจนได้ควันและกลิ่นที่โรยปกคุมศาลา เขารีบดีดเสี้ยวไม้ขีดที่มอดไหม้ใกล้ถึงปลายนิ้ว เห็นวูบไฟจุดเล็ก ๆ กระเด็นออกไปในสระน้ำ หายไปในความมืดของคืนหม่นในช่วงปิดภาคฤดูโควิด 19


เอกสารอ้างอิง

ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchenia

บางกอกหลอกชั้น [Exhibition review] Part.1

baannoorg publication

[Interdisciplinary art]

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯในปัจจุบันหากการปฏิวัติยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1688 ไม่เป็นผลสำเร็จ และป้อมบางกอกสร้างเสร็จตามวัตถุประสงค์ได้เปิดใช้งาน

  • ช่วงเวลาแห่งปฐมบทเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ฝั่งตะวันออกกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกเกือบร้อยปีจนถึงเมื่อต้นราชวงศ์จักรีในปีค.ศ. 1782

  • ภาพสะท้อนเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯ ที่ทุกคนรู้จักอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมันเชื่อมโยงไปสู่การเมืองการปกครองของผู้มีอำนาจนำ สำหรับคนที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติหรือแม้แต่พวกคลั่งชาติด้วยเช่นกัน

ลองจินตนาการดูกันว่า ต้องใช้กระจกเงากี่บานนับไม่ถ้วนเพื่อจะสะท้อนภูมิเมือง (topography) ของกรุงเทพมหานครฯ ให้ได้เพียงภาพเดียว ถึงแม้กระจกเงาจะมีความสามารถในการสะท้อนภาพได้ชัดคม แต่มันก็เป็นวัสดุที่เปราะบางเกินกว่าขนาดของมันที่ต้องมีความใหญ่โตมโหฬารมากพอ จึงจะสะท้อนภาพมหานครอย่างกรุงเทพฯในฐานะองค์ประธานได้ในภาพคราวเดียว


ด้วยเหตุที่บริบททางประวัติศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองของเมืองอย่างกรุงเทพมหานครฯ มีรายละเอียดของเนื้อหาขนาดมหึมา ยากต่อการศึกษาทำความเข้าใจด้วยระบบวิธีวิทยาของศาสตร์ความรู้แขนงใดแขนงหนึ่งโดยเฉพาะ


ยังผลให้ผู้สนใจศึกษาจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูล และโดยการทำให้พื้นที่ศึกษากลายเป็นชายขอบ เพื่อให้ความสงสัยใคร่รู้ของบุคคลไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกรอบความรู้เดิม และทำให้ข้อกังขาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ด้วยเหตุที่ภาพสะท้อนจากกระจกเงาซึ่งปรากฏแก่เราก็มิใช่ตัวความจริงของสิ่งที่ถูกสะท้อนเสียทีเดียว ดังนั้นสนามทางสหวิทยาการศิลป์จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจในประเด็นศึกษา กรณีศึกษาภาพสะท้อนกรุงเทพมหานครฯ โดยมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดจินตนาภาพและเปิดพื้นที่โต้แย้งอย่างสร้างสรรค์


บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) คือ ชื่อนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Topography of Mirror Cities บริหารและดำเนินโครงการฯโดย Sandy Hsiu-chih Lo ภัณฑารักษ์กลาง (Chief Curator) จากประเทศไต้หวัน โดยทุนสนับสนุนจาก National Culture and Arts Foundation กระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลไต้หวัน


Lo ได้เชื้อเชิญภัณฑารักษ์จาก 6 ประเทศร่วมนำเสนอภาพสะท้อนของสถานที่ในแต่ละเมืองสำคัญในภูมิภาค ให้กลายเป็นพื้นที่ของการศึกษาผ่านสนามทางทัศนศิลป์และรูปแบบนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย โดยมีภัณฑารักษ์จาก 6 ประเทศนำเสนอภาพสะท้อนในบริบทที่แตกต่างกันไปตามแต่ละนคร


ภัณฑารักษ์ทั้ง 6 ประกอบ ด้วย Lian Heng Yoehประเทศมาเลเชีย นำเสนอโครงการ History-Community-Identityที่กรุงกัวลาลัมเปอร์Vuth Lyno, Pen Sereypagnaประเทศกัมพูชา นำเสนอโครงการ Geo-bodyที่กรุงพนมเปญ Ade Darmawanประเทศอินโดนีเชีย นำเสนอโครงการ Mass Rapid Mobilityที่กรุงจาการ์ตา, Mahbubur Rahmanประเทศบังกลาเทศ นำเสนอโครงการ City of the Bookที่กรุงธากาและManray Hsuสาธารณรัฐไต้หวัน นำเสนอโครงการ Herbal Urbanismที่กรุงไทเป และ Jiandyin ประเทศไทย นำเสนอโครงการบางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers)ที่กรุงเทพฯ


นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers: Contemporary Art Exhibition)จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครฯ ดำเนินการโดยบ้านนอกความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ Jiandyinได้เชื้อเชิญศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาโดยรวมเอาสหวิทยาการ เช่น นักอักษรศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักโบราณคดี นักดาราศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์การออกแบบ นักออกแบบกราฟิกสถาปัตย์ และศิลปินเข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานได้แก่ หงจัง หลิน(PhD.), อวิกา สมัครสมาน, เซบาสเตียง ทายัค(PhD.),อนุพงศ์ เจริญมิตร, แก่นสาร รัตนสมฤกษ์นารีมัส เจะและ(PhD.),จิรวรรณ เกียรติโพธาสุพจน์ คุณานุคุณราชันย์ กล่อมเกลี้ยงวราวุธ ศรีโสภาคพชร ไชยเรืองกิตติ และ สาวิตรี เปรมกมล เพื่อแสดงออกถึงพลวัตรในภาพสะท้อนเมืองหลวงของไทย

Bangkok Layers publication

  • บางกอกหลอกชั้น : แนวคิดวิธีวิทยาภัณฑารักษ์

กรอบความรู้หรือโครงสร้างทางความคิดของแต่ละยุคสมัย คือ กรอบที่กำกับวิธีคิด ความเชื่อ และวิธีเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ของมนุษย์เรา แหล่งอ้างอิงเช่น บันทึกจดหมายเหตุ ข้อเขียนบทความ หรือแม้แต่คำพูดทั้งหลายได้ไหลเวียนเผยแพร่ออกไปในสังคมของแต่ละยุคสมัย

เป็นแหล่งอ้างอิงที่ทรงพลังสำหรับใช้ขุดค้นเพื่อหาความหมายและให้คุณค่าแก่สรรพสิ่ง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault 1926-1984) เรียกมันว่า “วาทกรรม หรือ Discourse” หากแต่วาทกรรมเช่นนี้มิได้หมายถึงตัวภาษาโดยตรงแต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วในสังคมด้วยอาศัยภาษาซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญะ


วาทกรรมดังกล่าวสามารถชี้นำให้เราเข้าถึงชุดความหมายนั้นๆได้[1] ฟูโกต์ได้ขยายความแนวคิดเรื่องนี้อย่างละเอียดในหนังสือ The Order of Things: An Archeology of the Human Sciences (ถ้อยคำกับสรรพสิ่ง: โบราณคดีแห่งศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษย์) ซึ่งนำเสนอแนวคิดในการขุดค้นและสำรวจลึกลงไปในเอกสารชั้นต่างๆ

The Order of Things: An Archeology of the Human Sciences

เพื่อค้นหาโครงสร้างทางความคิดของแต่ละยุคสมัย โครงสร้างที่ว่านี้ คือ กรอบความรู้ซึ่งเป็นเสมือนขอบฟ้าทางความคิดที่ครอบผู้คนในยุคนั้นๆ เอาไว้ จะเห็นได้ว่าสังคมแต่ละยุคสมัยล้วนอุปโลกน์ชุดความรู้ของตนเองขึ้นเป็นสัจธรรม [2] ตัวอย่างเช่น กรอบความรู้ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 อ้างอิงถึงความคล้ายคลึงกันของสรรพสิ่ง


ต่อมาในยุคการปฏิวัติทางปัญญาระหว่างศตวรรษที่ 17-18 กรอบความรู้ได้หันเหไปเน้นการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่งโดยการชั่ง ตวง วัด และจัดประเภทสิ่งต่างๆ ตามคุณสมบัติเฉพาะอัตลักษณ์ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างโปร่งใสด้วยภาษา

กรุงเทพก็ม้าอ๋า, พชร ไชยเรืองกิตติ, วีดิโอ, สี, 3.10 min., 2 หูฟัง, วน

เมื่อถึงยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กรอบความรู้ได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญต่อสาเหตุของสรรพสิ่งที่ว่าอะไรกำหนดให้เกิดอะไร ด้วยพัฒนาการของกรอบความรู้ดังกล่าวส่งผลให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นกรอบแม่บทของความรู้ทั้งปวงในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุ[3] คือต้นตอหรือที่มาของกรอบความรู้ที่สัมพันธ์กับเราในปัจจุบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


เมื่อเรานำ “ประวัติศาสตร์ความคิด” จากข้อเสนอของฟูโกต์มาวิเคราะห์สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของปัจเจกบุคคลที่คิด ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจข้อจำกัดการคิดของคนเรา ซึ่งข้อจำกัดเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นกับผู้เขียนประวัติศาสตร์เช่นกัน

ความสนใจต่อโครงสร้างที่เป็นบริบทการคิดของคนเราว่าอะไรที่ทำให้คิดและเป็นเช่นนั้น คือที่มาของการทำให้องค์ประธานเป็นชายขอบนั้นเอง [4]


เหตุที่กรอบความรู้เช่นนี้มิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ ในความคิดหรือสำนึกของมนุษย์ มันได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นและมีอำนาจกำหนดหรือมีอิทธิผลต่อพฤติกรรมชีวิตของมนุษย์เราในแง่มุมต่างๆ ตัวอย่างเช่น กรอบความรู้ที่ว่า “ชาติเกิดจากการที่บรรพบุรุษแต่โบราณได้สร้างและเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษา


ส่งผลต่อแนวคิดและการแสดงออกของผู้ที่เชื่อในกรอบความรู้เรื่องนี้ผ่านภาษา และรูปแบบวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อในกรอบความรู้นั้น [5] หากจะพิจารณาระบบการสร้าง กรอบความรู้หรือวาทกรรมในแบบเปิด (openness) ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวเป็นมายาภาพตัวแทน

ศูนย์กาล, นารีมัส เจะและ (PhD.), วีดิโอ, สี, 56 sec., วน

ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนหรือถูกแทนด้วยกรอบความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการรื้อสร้างตัวแทนตามทัศนะของ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida ค.ศ. 1930-2004) เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาพตัวแทนเหล่านั้นจะสามารถสร้างกรอบความรู้กรอบหนึ่งภายนอกตัวของมันเอง


การค้นหาร่องรอยของแบบแผนภายใต้กรอบความรู้และการเชื่อมโยงบรรดาข้อความต่างๆ ตามหนังสือตำราวิชาการ งานวรรณคดี และวรรณกรรมพื้นบ้าน บันทึกเรื่องเล่า แผนผัง ภาพวาด ภาพถ่าย ฯลฯ เอกสารหรือจดหมายเหตุเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นหลักฐานพยานแห่งวาทกรรมในมิติของการใคร่ครวญเชิงทฤษฎีและการวิเคราะห์ตัวบท (theoretical speculation and textual analysis)


โดยให้ความสำคัญแก่การขุดค้นและทำความเข้าใจต่อบริบททางประวัติศาสตร์แบบจำเฉพาะ (history as a single collective narrative) จะสามารถเชื่อมโยงตัวเราจากอดีตสู่กรอบความรู้ของปัจจุบันได้หรือไม่

แสดงสดขับร้องเพลงปรบไก่(ฉบับพิเศษ) บางกอกหลอกชั้น ประพันธ์คำร้อง-ขับร้องโดย อาจารย์ จินตนา กล้ายประยงค์

บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) คือ บทภัณฑารักษ์ที่อาศัยการสืบค้นข้อมูลข้ามกาลเทศะและประวัติศาสตร์ ด้วยแนวทางการนำเสนอนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่แสดงออกเชิงสัมพันธภาพทางตรงระหว่างข้อมูลกับบุคคล โดยอาศัยการถอดรหัสตีความและการตั้งคำถามปลายเปิดต่อข้อเท็จจริงในข้อมูลต่างๆ หลายระดับชั้น

เพื่อเผยส่วนที่ซุกซ่อนหรือปกปิดไว้ภายใต้ผืนพรมขนาดใหญ่ที่สังคมถักทอขึ้น และกดทับบางส่วนบางตอนไว้ไม่ให้ปรากฏเพื่อเป้าหมายบางประการทางสังคมการเมือง ผลงานหลากหลายสื่อทัศนศิลป์ของศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาในนิทรรศการ ต่างให้ความสนใจต่อการตีความที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างศิลปะร่วมสมัย สังคม การเมืองและประวัติศาสตร์


โดยการประเมินคุณค่าพื้นฐานทางทัศนศิลป์จากแนวคิดและพลวัตรในการนำเสนอกระบวนการสร้างสรรค์นิทรรศการ เป็นการเชื่อมโยงบุคคลกับกรอบความรู้ทางสังคมด้วยการ ให้คุณค่าและความหมายกับสมมติสถาน-การสืบค้นประวัติความเป็นมาของสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด


แม้แต่เทศะเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งได้ถูกทำลายไปแล้ว แนววิธีวิทยาเช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้และทำความเข้าใจของปัจเจกชนที่มีต่อปรากฏการณ์วิทยาและสังคมแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ


ตัวนิทรรศการฯมุ่งพิจารณาและตีความข้ามกรอบความรู้ทางปรากฏการณ์วิทยาด้านสังคมศาสตร์ ที่เกี่ยวโยงกับกาล-เทศะและประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างอดีต ปัจจุบัน และการคาดการณ์อนาคต ผ่านการปฏิบัติและสนามทางศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบของการศึกษาค้นคว้า


เพื่อสะท้อนแนวทางการสร้างกรอบความรู้ใหม่ขึ้นมาแทนที่กรอบความรู้เดิม ด้วยการสร้างบทสนทนาในนิทรรศการฯผ่านการตั้งคำถามตามหรือคำถามแย้ง ที่ท้าทายความคาดหวังทั้งจากผู้ชมและศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญที่สร้างผลงาน นำเสนอทัศนะและทัศนียภาพองค์รวมที่มีความหลากหลายในรูปแบบและวิธีวิทยาตามประเด็นที่กำหนด


เพื่อสร้างประสบการณ์การรับรู้ การส่องสว่าง และเปิดช่องที่ซ้อนทับกันหลายเชิงชั้นของความหมายในกรอบความรู้กระแสหลักและเป้าหมายในการแสวงหาโครงสร้างความคิดในระดับจุลภาคของสังคม ด้วยการสร้างนิยามใหม่ในพื้นที่ทางทัศนศิลป์เชิงสหวิทยาการประสานเข้ากับศาสตร์ความรู้อื่นๆ ในฐานะของงานสร้างสรรค์[6]

บางกอก-ป้อมปราการฝั่งตะวันออก ,สาวิตรี เปรมกมล,วีดิโอ, สี, เงียบ, 4.9 min., วน/ แบบร่างป้อมบางกอกโดยโดย สิเยอร์ เดอ ลามาร์


และตัวเร่งปฏิกิริยาที่ยังผลให้เกิดการตีความทางสังคม[7] อันเป็นกรอบความรู้ที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงแปรรูปไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งมีพัฒนาการแบบไม่ต่อเนื่องต่างจากสายโซ่ที่ร้อยต่อเชื่อมกันโดยไม่ขาดห้วง ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ในปรากฏการณ์จึงมีคุณค่าอย่างมากสำหรับการศึกษา


โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแรงกระทำซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจตรรกะที่ดำรงอยู่ในปรากฏการณ์นั้นได้โดยตรง[8] การสนับสนุนและสร้างความเข้าใจที่เปิดกว้างนั้นสามารถเพิ่มศักยภาพต่อการตีความ ซึ่งบ่อยครั้งเปิดโอกาสให้ศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชมมีส่วนร่วมกันสร้างแบบแผนการบรรเทาความคลาดเคลื่อน ที่มักเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาแบบโครงสร้างนิยมซึ่งยึดถือกรอบความรู้ที่แข็งขืนลดทอนและปฏิเสธความเป็นอื่น

  • บางกอก: สถานที่-เทศะ (Bangkok: place-space)

Place today is taken to mean a combination of experiences, memories and other living interactions that include humans relative to spaces – Tim Cresswell

จากบทภัณฑารักษ์กลาง Sandy Hsiu-chih Lo (Chief Curator) ได้ยกตัวอย่างจุดยืนหรือมุมมองที่น่าสนใจผ่านการเฝ้ามองภาพผลงานจิตรกรรมประเพณีนิยมแนวภูมิทัศน์ โดยอ้างถึงแนวคิดของ Fredric Jameson (b. 1934-) ในฐานะเป็นกำลังเสริมซึ่งทำให้บุคคลทำความเข้าใจแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสถานที่หรือเทศะ (place-space) ได้อย่างน่าสนใจ


ด้วยการนำเสนอความสัมพันธ์ของจินตนาการระหว่างบุคคลและสถานการณ์จริง ยังผลให้จุดกำเนิดหรือจุดเริ่มต้นกลายมาเป็นจุดยืนหรือมุมมองที่มีต่อสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด ที่แสดงถึงตำแหน่งแห่งหนของเมืองหลวงอันเป็นเนื้อหาหลักในโครงการฯ


โดยมีรากฐานความจริงประกอบสร้างขึ้น และด้วยแนวคิดดังกล่าว Lo ให้ข้อสรุปถึงความสำคัญของสถานที่ในฐานะเป็นหนทางในการมองเห็น การสร้างความรู้และการทำความเข้าใจต่อโลกที่แวดล้อมเราอยู่


หากพิจารณาสถานที่หรือเทศะในลักษณะสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ที่มีส่วนทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารถึงกันและบ่งบอกว่าตนเองเป็นใคร ซึ่ง Casey D. Allen และ John Agnew ระบุในหนังสือเรื่อง Humanistic Geography และ Space and Place โดยอธิบายว่า “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มนุษย์ต่างมีชีวิตในแบบของตัวเองที่สัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่นั้น” [9]


โดยแนวคิดทางภูมิศาสตร์แนวมนุษยนิยม (Humanistic geography)[10] การศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือเทศะอย่างกรุงเทพฯ เมืองมหานครซึ่งมีขอบเขตหรือขนาดพื้นที่เปิดรับประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์วรรณนา เศรษฐกิจ สังคม -วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ฯลฯ


อาจเป็นเรื่องที่มีเนื้อหากว้างใหญ่เกินจากกรอบระยะเวลาและพื้นที่ที่กำหนดในนิทรรศการฯครั้งนี้ ด้วยเหตุที่สถานที่หรือเทศะอย่างกรุงเทพมหานครฯเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีการทับซ้อนขยายตัวและเป็นแม่เหล็กดูดดึงผู้คนจากทั่วสารทิศ ให้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากินมานานนับจากอดีต และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต

กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มา: https://twitter.com/playground_9/status/1126156625813708800?lang=sv https://taejai.com/en/d/phathnaachumchnkhlngetydwybrikaarthngethiiywyangyuuen/


ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรทั้งหมด 5,605,672 คน เมื่อรวมเข้ากับพื้นที่เขตปริมณฑล 4 จังหวัดจะมีประชากรสูงถึง 10,765,226 คน หากคิดพื้นที่ของกรุงเทพมหานครฯเป็นพื้นที่ต่อคนต่อตารางกิโลเมตร จะพบว่าในทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตรมีคนอยู่จำนวน 3,616.64 คน


แนวคิดเรื่องการศึกษาภาพตัวแทนหรือการศึกษาแบบจำลองของสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด จึงอาจเป็นทางเลือกที่นำพาผู้ชมให้เข้าถึงข้อมูลหลักฐาน เอกสาร จดหมาย แผนที่ แผนผัง วัตถุสิ่งของ ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมข้อเท็จจริงแห่งประเด็นศึกษา โดยเปิดพื้นที่ในรูปแบบกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของผู้กระทำการที่สามารถยึดครองเทศะ จัดการเทศะ


การสร้างสรรค์สถานที่ด้วยวิสัยทัศน์และโครงการจำเพาะทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ภายใต้กรอบบริบทซึ่งอยู่ในสภาวะของสิ่งที่กำลังจะมาถึง (becoming) มากกว่าจะเป็นบางสิ่งที่ ”ตายตัว” เช่น แม่น้ำลำคลอง การตีความ จินตนาการ และทำความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ของการกลายเป็นสถานที่สำคัญอย่างเมืองหลวงแห่งนี้ ผ่านโครงสร้างความคิดระบบระเบียบทางสังคมที่เราสังกัดอยู่


รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนมีที่มาจากความเป็นจริงเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น กระแสของปรัชญาปรากฏการณ์(Phenomenology) ได้ตอกย้ำถึงการที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่แวดล้อมอย่างแยกไม่ออก แนวคิดนี้ให้ความสนใจเริ่มต้นการศึกษาจากจุดเล็กๆ ธรรมดาที่เป็นจริง แล้วค่อยๆ ขบคิดปัญหาต่อๆ ไปด้วยการสำนึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่หรือเทศะ


กรณีศึกษาจากการเฝ้าสังเกตสิ่งธรรมดาสามัญ อาทิเช่นเสาไฟฟ้าริมถนนหรือคนขายปลาที่ท่าเรือ[12] ธรรมดาแห่งปรากฏการณ์วิทยาของ Maurice Merleau Ponty (b.1908-1961) ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเทศะกับตัวเราอย่างตั้งใจในฐานะที่ “ตัวฉันเข้าใจได้มากกว่าที่ฉันคิด


ด้วยเหตุที่เทศะทางร่างกายของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนและสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ กล่าวโดยสรุปก็คือร่างกายของเรามิได้เพียงตั้งอยู่ภายในเทศะหรือสถานที่ หากแต่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ภายในนั้น[13]


สถานที่หรือเทศะ” ในทัศนะของ Tim Cresswell จึงมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากมีบทบาทในลักษณะเป็นกรอบพื้นฐานหรือธรรมนูญทางสังคม-วัฒนธรรม[14] การให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับความนึกคิดของผู้คน สิ่งต่างๆ และการกระทำของบุคคลผู้เกี่ยวข้องและมีผลต่อสถานที่หรือพื้นที่หนึ่งใดนั้น ยอมเผยให้เห็นสิ่งตรงข้ามกันเสมอ

Bangkok Layer exhibition overview, photo by Anupong Charoenmitr


หากเรามองประเด็นนี้ในเชิงตรรกะอาจพูดได้ว่า การล่วงละเมิดสภาวะอันเป็นปกติของสถานที่หรือเทศะนั้น โดยมากจะถูกระบุให้เกิดขึ้นจากความเป็นอื่นคนอื่นสิ่งอื่นและการกระทำอื่นๆ ที่อยู่นอกขอบเขตตัวมัน Cresswell เสนอว่า “ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือเทศะ คือสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความสำคัญโดยตรงให้แก่ตัวมัน”[15]

พูดอีกอย่างก็คือ จิตวิญญาณของสถานที่เกิดจากพฤติกรรมและการปฏิบัติของมนุษย์เรานั่นเอง อะไรคือหนทางที่ทำให้ผู้คนสัมผัสและคิดเกี่ยวกับเทศะได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่ารูปแบบของเทศะนั้นคือบ้าน ชุมชน หรือความเป็นชาติ มนุษย์เรามีความรู้สึกต่อสถานที่และเทศะซึ่งสะท้อนผ่านกาลได้อย่างไร


ในกรณีเช่นนี้ Yi-Fu Tuan (b.1930-) ได้เสนอนิยามเรื่องสถานที่และเทศะไว้น่าสนใจในสองลักษณะ กล่าวคือสถานที่ (Place) แสดงออกถึงความมั่นคงปลอดภัย และเทศะ (Space) แสดงออกถึงเสรีภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะคำนึงถึงพื้นที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และอคติ เทศะหรือสถานที่แห่งมายาคติ เวลาในพื้นที่แห่งประสบการณ์ หรือความเกี่ยวโยงทางวัฒนธรรมที่มีต่อเทศะ Tuan มองว่ามนุษย์เราจะยึดโยงตนเองเข้ากับสิ่งหนึ่งและถวิลหาอีกสิ่งหนึ่งเสมอ


ติดตามตอนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

 1 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, บรรณาธิการ, ข้ามขอบฟ้าความคิด (เชียงใหม่: ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560), 43.
 2 Fredric Jameson (b. 1934-) ให้ทัศนะเรื่องมโนทัศน์เกี่ยวกับสัจธรรมความจริงแท้อันเป็นสากลนั้นไม่มี ความจริงที่ว่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของอภิปรัชญา ซึ่งแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) ได้ค้นหาหนทางละทิ้งเสีย ดูรายละเอียดใน: Charles Harrison & Paul Wood, editor, Art in Theory 1900-2000: An Anthology of Changing Ideas (UK: Blackwell Publishing, 2003), 1049.
 3 นพพร ประชากุล, บรรณาธิการ, ร่างกายภายใต้บงการ (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), 10.
 4 ฟูโกต์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่งเฮาส์, 2558), 65.
 5 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, ข้ามขอบฟ้าความคิด, 44. สายพิณ ศุพุทธมงคล แปล, ฟูโกต์
 6 ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เสนอว่าการสร้างสรรค์คือการสร้างและระดมศักยภาพของความคิดและการสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตสร้างความรู้แบบใหม่ที่ทำให้ผู้รับรู้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการมองโลก ดังนั้นการสร้างสรรค์จึงเป็นการท้าทายความคิดและความรู้เดิมเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่หรือความรู้ใหม่ให้กับคนในสังคม ดูรายละเอียดใน: โพ้นพรมแดนความรู้ (เชียงใหม่:ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560), 56.
 7 Arnd Schneider and Christopher Wright, editor, Between Art and Anthropology: Contemporary Ethnographic Practice, (UK: Berg, 2010), 114.
 8 นพพร ประชากุล, บรรณาธิการ, ร่างกายภายใต้บงการ, 21.
 9 http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/69
 10 Yi-Fu Tuan (b.1930-) ให้เหตุผลว่าร่างกายมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยตรง พื้นที่ปรากฏและอยู่ร่วมไปพร้อมๆ กับสติภายในร่างกายของมนุษย์เรา ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมเช่นนี้ปรากฏแสดงผ่านระบบการทำงานในตัวเรา ก่อนที่จะสนองตอบเราในฐานะเป็นเครื่องมือของจิตสำนึกทางการเลือกสรรและการมุ่งหมายในทัศนะการรับรู้, สัมผัส, การเคลื่อนไหวและการหลอมรวมทางความคิดซึ่งสร้างการรับรู้คุณลักษณะของพื้นที่ขึ้นมา (https://tcatf.hypotheses.org/177)
 11 จิตติภัทร พูนขำ แปล, ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), 30.
 12 ธีรยุทธ บุญมี, การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์: เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2551), 28.
 13 https://plato.stanford.edu/entries/merleau-ponty/
 14 https://pure.royalholloway.ac.uk/portal/en/persons/tim-cresswell(7d41a2c8-6df1-413f-9b67-892b73b00697).html
 15 https://pure.royalholloway.ac.uk/portal/en/persons/tim-cresswell(7d41a2c8-6df1-413f-9b67-892b73b00697).html 

ไกว ไกว (乖乖): สัญญะ/ขนม [คนรุ่นเก่า/ใหม่]

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

เป็นที่น่าแปลกใจและออกจะขบขันอยู่ไม่น้อย เมื่อแรกสังเกตเห็นถุงขนมกรุบกรอบยี่ห้อหนึ่งที่วางอยู่กับชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กำลังทำการอันแพคในบริเวณที่ผู้เขียนกำลังติดตั้งผลงานซึ่งมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าเช่นกัน ภายใน National Taiwan Museum of Fine Art พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติที่มีชื่อเสียงและทันสมัยแห่งหนึ่งในไต้หวัน

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นคือชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ที่สำคัญสำหรับใช้ในการประกอบติดตั้งผลงาน New Media ของศิลปินไทย กรกฤต อรุณานนท์ชัย ผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติพำนักและทำงานอยู่ที่นิวยอร์กและกรุงเทพฯ ผลงานชุดที่ว่านี้เป็นผลงานที่ขนส่งทางเครื่องบินตรงมาจากนิวยอร์ก โดยที่ตัวศิลปินติดภารกิจไม่สามารถมาติดตั้งผลงานได้ด้วยตนเอง

ความติดขัดล่าช้าของการขนส่งทำให้ผลงานเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์ฯ ในวันเดียวก่อนวันสุดท้ายซึ่งจะมีพิธีเปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าชมในตอนเย็น ส่งผลให้ทีมงานติดตั้งชาวไทยที่เดินทางมาถึงก่อนหน้าแล้ว ต้องรออยู่หลายวันโดยไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ในเวลาเดียวกันกับทีมติดตั้งมีกำหนดการต้องเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นก่อนที่ผู้สื่อข่าวมาถึง

นั่นย่อมหมายความว่าการติดตั้งชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ตามเอกสารแผนการประกอบการติดตั้งแผงวงจรและไมโครคอนโทรลเลอร์ หลายหน้ากระดาษขนาด A4 เล่มหนาๆ ที่วางอยู่บนแผงอิเล็กทรอนิกส์นั้น ต้องประกอบร่างให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนกำหนดเปิดนิทรรศการรอบสื่อมวลชนที่จะเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้

กล่องบรรจุอุปกรณ์ขนาดไม่เล็กจากนิวยอร์กส่งมาถึงห้องจัดแสดงในช่วงสายๆ หนึ่งวันก่อนเปิดนิทรรศการฯ ทีมงานชาวไทยสองคนและผู้ประสานงานของพิพิธภัณฑ์ฯ หลายคนช่วยกันอันแพคและถ่ายรูปบันทึกในทุกขั้นตอนระหว่างการนำชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยตามระบบจัดการของพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อยืนยันขั้นตอนและตรวจสอบชุดอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือเสียหายในขั้นตอนนี้

ผู้เขียนมิได้สังเกตเห็นว่าทีมประสานงานของพิพิธภัณฑ์ฯ นำถุงขนมกรุบกรอบ 2 ถุงมาวางไว้บนแผงอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งขณะนั้นถูกวางเรียงรายกันอย่างเรียบร้อยบริเวณหน้าห้องจัดแสดงตั้งแต่เมื่อไหร่และด้วยเหตุผลอันใด ตลอดทั้งช่วงบ่ายทีมงานติดตั้งผลงานของ กรกฤต จัดการกับชุดอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างมืออาชีพ พวกเขาแก้ไขอุปสรรคทางเทคนิคหลายประการอย่างกระชั้น

ผู้เขียนได้ยินว่าทีมติดตั้งต้องสาละวนอยู่กับอุปกรณ์ยิงเลเซอร์ การขนดินและกิ่งไม้แห้งเข้าจัดวางภาพในห้องจัดแสดงตามแบบที่ศิลปินแนบมา อีกทั้งการแก้ปัญหาหน้างานหลายประการ แต่ในที่สุดช่วงบ่ายของวันนั้นผลงานของ กรกฤต ก็ติดตั้งแล้วเสร็จ เหลือเพียงการปรับแก้ไขไฟล์ภาพเคลื่อนไหวที่พบการกระตกระหว่าง play เล็กน้อย ซึ่งต้องให้ผู้ช่วยศิลปินที่นิวยอร์กเป็นผู้แก้ไขแล้วรีบทรานเฟอร์ส่งมาให้ในคืนนั้น

เช้าวันรุ่งขึ้นทีมติดตั้งกลับเข้ามาที่ห้องนิทรรศการอีกครั้งเพื่อตรวจสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ทั่วหมด และนำไฟล์ที่ส่งมาเปิดเช็คดูความเรียบร้อย หลังอาหารกลางวันพวกเขาเข้ามาดูความเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกเดินทางจากพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อไปสนามบินที่กรุงไทเป เราล่ำลากันตามประสาเพื่อนมิตรภาพและสวัสดิภาพในการเดินทาง

ผลงาน กรกฤต อรุณานนท์ชัย โดยมีขนมไกวไกว (乖乖) ว่างไว้บริเวณทางเข้า

จากนั้นผู้เขียนกลับมาสาละวนกับผลงานของตนเองที่ยังติดตั้งไม่แล้วเสร็จ ในขณะเดียวกันก็เหลือบไปเห็นถุงขนมกรุบกรอบ 2 ถุงนั้น ซึ่งเวลานี้ได้ถูกนำกลับออกมาวางที่ตัวตุ๊กตาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของ กรกฤต ตรงบริเวณทางเข้าหน้าห้องจัดแสดงอีกครั้ง นั่นทำให้ผู้เขียนสะดุดคิดว่าถุงขนมทั้งสองถุงนั้นไม่ใช่เพื่อการบริโภคอย่างแน่นอนและมันใช้เพื่อประโยชน์อะไรกันแน่

ผู้ประสานงานของพิพิธภัณฑ์ได้ไขข้อปริศนานี้ระหว่างช่วยทีมงานติดตั้งของ กรกฤต เก็บของก่อนเดินทางไปสนามบิน เธอบอกกับผู้เขียนว่า “มันคือถุงขนมแห่งการว่านอนสอนง่าย” และด้วยรูปลักษณ์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ทำให้เข้าใจได้ว่ามันคือขนมกรุบกรอบของเด็กๆ และรวมถึงผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบขนมขบเคี้ยวอีกด้วย ด้วยชื่อของมัน ”ไกวไกว” มีความหมายว่า ให้เชื่อฟังและอย่าดื้อ

ในบริบททางภาษาคำว่า ไกวไกว (乖乖) มักใช้เมื่อต้องการให้สิ่งที่พูดถึงไม่ดื้อหรือว่านอนสอนง่าย เช่น “ไกว ไกว อย่าดื้อนะลูก” อะไรประมาณนั้น เด็กๆที่ชื่นชอบขนมกรุบกรอบชนิดนี้ได้ซึมซับความหมายสัญญะของภาษาและการบริโภคไว้ในเวลาเดียวกัน โซซูร์ได้ชี้ว่าความหมายของสรรพสิ่งมิได้ดำรงอยู่ในตัวของสิ่งนั้นแต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน

อาจกล่าวได้ว่าขนมกรุบกรอบ ไกว ไกว (乖乖) คือสัญลักษณ์ (Symbol) ซึ่งเป็นสัญญะในแบบที่ไม่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงอันใดเลยระหว่างตัวสัญญะกับวัตถุจริง หากแต่ความหมายเกิดจากการตกลงร่วมกันในหมู่ผู้ใช้สัญญะ เช่น ตัวอักษร หรือโลโก้ต่างๆที่สร้างขึ้น การถอดรหัสจึงจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ใช้สัญญะ

ไกว ไกว (乖乖) มีให้เลือก 3 สี 3 รส

ส่วนสีของบรรจุภัณฑ์นั้นก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ขนมกรุบกรอบ ไกว ไกว (乖乖) มีให้เลือก 3 สี 3 รส ซึ่งแต่ละสีสื่อความหมายโดยนัย (Connotative Meaning) โดยอ้อมเพื่อให้เกิดการตีความหมายอีกชั้นหนึ่ง สีเขียว สีเหลืองและสีแดง ย่อมให้ความหมายที่แตกต่างกัน ห่อบรรจุสีเขียวนั้นเป็นสีที่ตรงกับสีซิกนอลของสัญณาณจราจรและสัญญาณชีพของเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป

สีเหลืองให้ชะลอและแดงคือต้องหยุดในสัญญาณจราจรที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญบนหน้าซองบรรจุภัณฑ์ขนมกรุบกรอบ ไกว ไกว (乖乖) ยังมีช่องว่างให้กรอกชื่อผู้รับหรือชื่อชิ้นงานที่เราต้องการมอบความว่านอนสอนง่ายลงไป และที่สำคัญบนซองบรรจุมีคำอวยพรเขียนว่าซุ่น (順) ที่แปลว่าคล่อง โล่ง ปราศจากอุปสรรค เน้นย้ำลงไปอีกด้วย

ไกวไกว กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์

ขนมกรุบกรอบยี่ห้อนี้ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1968 จัดว่าเป็นขนมที่ทุกคนนิยมชมชอบหรือขนมประจำชาติของคนไต้หวันเลยก็ว่าได้ เรียกว่าไม่มีใครไม่รู้จักขนมกรุบกรอบยี่ห้อนี้ลูกเล็กเด็กแดงเห็นชอบซื้อทานกันทั้งบ้านทั้งเมือง สิ่งที่น่าสนใจคือขนมยี่ห้อนี้ผลิตขึ้นมาไม่เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้นแต่อุปโภคด้วย มันไม่ได้เป็นไปเพื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแต่ทั้งสองอย่าง มันจึงเป็นขนมที่ตราตรึงอยู่ในดวงใจของคนไต้หวันเมื่อครั้งวัยเยาว์จวบจนปัจจุบัน

เมื่อเด็กๆเติบโตขึ้นพวกเขามีตำแหน่งการงานในหลากหลายวิชาชีพ เจ้าไกวไกว (乖乖) ได้ติดตามควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของพวกเขาเหล่านั้น สังเกตจากฝ่ายประสานงานของประสานงานของพิพิธภัณฑ์ผู้ดูแลผลงานที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกคนอาศัยเจ้าไกวไกว (乖乖) นี่แหละ มาวางไว้ในห้องหรือในจุดที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อให้งานที่รับผิดชอบไม่ติดขัดและรอดพ้นอุปสรรคนานับประการ

ไกวไกว Easy Card

ล่าสุดอีซี่การ์ด (Easy Card) บัตรชำระแทนเงินสดสำหรับจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ และจ่ายเงินซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อและร้านค้าต่างๆ ร่วมกับบริษัทขนมอบกรอบไกวไกว (乖乖) จัดทำบัตรอีซี่การ์ดเป็นพวงกุญแจนำโชคเป็นรูปถุงขนมไกวไกว ขนาดย่อส่วน 7×5 ซม. เป็นที่พออกพอใจทั้งแก่คนรุ่นเก่ารุ่นใหม่อย่างมาก เนื่องจากมันหมายถึงสภาพคล่องทางการเงินของผู้มีไว้ครอบครองชนิดที่เรียกได้ว่ารูดปรื้ดๆ ไม่ติดขัดกันเลยทีเดียว

Gen X และ Gen Y-Z ต่างมีความเชื่อที่ต่างกันในด้านรูปแบบและเนื้อหา ส่งผลให้เครื่องยึดเหนี่ยวที่เสริมส่งกำลังใจของ Gen Y-Z ต่างไปจากรุ่น Gen X โดยสิ้นเชิง แม้พวกคน Gen X หัวเก่าอนุรักษ์นิยมจะรังเกลียดชิงชังคนรุ่นใหม่อย่างไร แต่นั้นก็มิได้หมายความว่าพวกเขาล้มล้างความเชื่อดั้งเดิมหรือปฏิเสธความหมายเชิงวัฒนธรรมให้โง่เง่าล้าหลัง

ในทางกลับกันพวกเขาได้พัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรม ตามเหตุปัจจัยของยุคสมัยที่ความเร่งรีบกลายเป็นข้อจำกัดในระบบการแข่งขันเสรี เพราะพวกเขาเติบโตในช่วงเวลาที่โลกรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนในอดีตและการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ยิ่งทวีความรวดเร็วยิ่งขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าขนมกรุบกรอบ ไกวไกว (乖乖) จะช่วยให้การปฏิบัติงานของพวกเขาราบรื่นหรือไม่ก็ตามที

หากแต่รากเหง้าความเชื่อทางวัฒนธรรมที่เสริมส่งให้เกิดผลสำเร็จในการงาน ผลสำเร็จมวลรวมในเชิงมหภาค ซึ่งรับช่วงมาจากรุ่นสู่รุ่นยังคงดำรงอยู่สืบต่อไป ความคาดหวังของเราที่มีต่ออนาคตลูกหลานจึงไม่ใช่การพร่ำเพ้อถึงแต่น้ำร้อนที่เคยอาบ และก่นด่าว่าพวกเขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

เพราะอย่างไรเสียพวกเขาก็คือเสาหลักของอนาคตอยู่ดี คนรุ่นเก่าคนรุ่น X อย่างเราๆ ต่างหากควรกลับมามองตัวเองเสียทีว่าสิ่งที่ทำๆ กันอยู่ทุกวันนี้มีคุณค่าอะไรที่พวกเขาต้องเก็บรักษามันไว้ ถ้าไม่ ไม่เพียงพวกเขาจะโยนมันทิ้ง แต่พวกเขาไม่ต้องเคารพหรือแม้ยกมือไหว้พวกเราด้วยซ้ำ

ผลงาน jiandyin โดยมีขนมไกวไกว (乖乖) ว่างไว้บริเวณอุปกรณ์-ตู้ทำความเย็น

ว่าแล้วผู้เขียนได้แจ้งกับผู้ประสานงานพิพิธภัณฑ์ฯ ขอ ไกวไกวสีเขียว 2 ถุง เพื่อนำมาวางที่ชิ้นงานระหว่างรอแก้ไขปัญหาการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการวางระบบความดันกระแสไฟฟ้าที่ต้องสอดคล้องกับชิ้นงาน-อุปกรณ์ทำความเย็นซึ่งผลิตจากเมืองไทยแล้วส่งมาทางเรือถึงไต้หวัน เป็นปัญหาติดขัดด้วยความดันกระแสไฟฟ้าที่ประเทศไต้หวันแตกต่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยเพียง 10 hz แต่กลับส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ทั้งระบบอย่างคาดไม่ถึง

เหลือเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงพิธีเปิดนิทรรศการในรอบสื่อมวลชนกำลังจะเริ่มขึ้น ศิลปินกำลังตระเตรียมทุกสิ่งอย่างในห้องนิทรรศการให้พร้อมโดยไม่ขาดตกบกพร่อง และใจจดใจจ่อรอเครื่องแปลงไฟกำลังดันขนาด 220wx60hz ที่พิพิธภัณฑ์ฯสั่งซื้อไปเมื่อสามวันก่อนกำลังเดินทางมาถึง เพื่อเปิดจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ตู้กระจกทำความเย็นที่ติดตั้งโดดเด่นอยู่กลางห้องก่อนบรรดานักข่าวจะเดินมาถึงเพียงไม่กี่นาที

ถุงไกวไกว 2 ถุงที่เห็นถูกซ่อนไว้ใต้ตู้ทำความเย็นตลอดสี่เดือนในการแสดงนิทรรศการครั้งนั้น จวบจนวันนี้ผู้เขียนก็ยังไม่ได้ลิ้มรองรสชาติเจ้าไกวไกวซะที แม้ยังไม่ได้รับผลด้านโภชนาการแต่ก็ถือว่าได้รับผลอันปราศจากอุปสรรคนั้นไปแล้ว

ไกวไกว


บางกอกหลอกชั้น [Exhibition review] Part.2

baannoorg publication

[Interdisciplinary art]

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

บางกอกหลอกชั้น

ราว 5,000 ปีที่แล้วจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 10 ช่วงต้นของอาณาจักรทวารวดีเริ่มขึ้นในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง ตามบันทึกของหลวงจีนจี้ชิงที่เรียกอาณาจักรแถบนั้นว่าโต-โล-โป-ตี้ ในเวลานั้น กรุงเทพฯ ยังจมอยู่ใต้ทะเลโคลนตม โดยบางแห่งได้เริ่มแข็งตัวเป็นผืนแผ่นดินมากขึ้น มีป่าชายเลนไม้โกงกาง และเกิดแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่หลายสาขา เป็นเส้นทางคมนาคมออกสู่ทะเลอ่าวไทยขยายขึ้นเรื่อยๆ

ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ ที่มา: http://paipibat.com/?p=3493

บางแห่งเป็นที่ดอนสูง มีผู้คนตั้งหลักแหล่งประปรายเป็นหย่อมๆ ห่างไกลกัน นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหินและโลหะตกค้างฝังดินและจมโคลนตมอยู่บ้าง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีผู้คนยุคดึกดำบรรพ์เดินทางผ่านไปมาบ้างแล้ว [16]

ภูมิ-จินตนา, อวิกา สมัครสมาน, ทอผ้า 297×420/ 420×594 cm.,

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ขึ้นขนานใหญ่ บ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย เช่น อโยธยาศรีรามเทพนคร พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางน้ำกว้างใหญ่ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (oxbow lake) ผ่านกรุงเทพฯ [17] ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในฐานะเมืองทางผ่านและเป็นหน้าด่านสำคัญจวบจนเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนบ้านเรือนเก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้ปรากฏชื่ออยู่ในโคลงกำสรวลสมุทรหรือกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมเก่าแก่มาแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

Cartography of Bangkok 1688-

เมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯในปัจจุบัน เดิมทีหมายรวมดินแดนทั้งสองฟากแม่น้ำ (เจ้าพระยา) มิได้แยกเป็นฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี พื้นที่บริเวณนี้ปรากฏเป็นชุมชนบ้านเรือนขนาดย่อมที่มีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำมาแต่อดีต เป็นจุดพักเรือนานาประเทศ

Something Like a Thing, Sometime Like Every Time, อนุพงศ์ เจริญมิตร, วีดิโอจัดวาง, สี, เสียง, วน

ผู้คนเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น จนเติบโตเป็นชุมชนเมืองขึ้นตามลำดับหลังการขุดคลองลัดบางกอก[18] สำเร็จในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089) ยังผลให้การค้าขายเติบโตมั่งคั่ง บรรดาพ่อค้าจากตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น จาม ชวา มาลายู และตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ เปอร์เชีย อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส ฯลฯ

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

ต่างก็เดินทางเข้ามายังบางกอกและผ่านขึ้นเหนือสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ครั้นสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) บางกอกก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับกรุงหงสาวดีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2112 [19]


เมืองบางกอกยังปรากฏบันทึกคำบอกเล่าในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 (Chronicles of the Ayuthian Dynasty: Jeremias van Vliet, ผู้จัดการสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 2176-2199)

Jeremias van Vliet (1602–1663)

ปรากฏชื่อเมืองสำคัญตามความในพงศวดารฯตำนานเรื่องท้าวอู่ทองผู้สร้างเมืองต่างๆ เช่นเมืองลังกาสุกะ (Langhseca) เมืองสีคร (Lijgoor) เมืองกุย (Cuij) เมืองพริบพรี (Piprij) เมืองคองขุนเทียน (Chongh Cout Thiam) เมืองบางกอก (Banckocq) และเมืองอยุธยา (Ayuthian)


จะเห็นได้ว่าบางกอกมีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ เป็นเมืองท่าหน้าด่านเข้าออกและเป็นสถานที่สำคัญที่สุดแห่งเดียวในราชอาณาจักรสยามที่มีป้อมปราการแข็งแรงป้องกันข้าศึกได้ ตามบันทึกจดหมายเหตุของราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise, 1663-1729)

เอกสารจากยุโรปหลายชิ้นเรียกป้อมปราการทั้ง 2 ฟากแม่น้ำนี้ว่า “ป้อมเมืองบางกอก” ในบันทึกของฟอร์บัง[20] กล่าวว่าที่ป้อมบางกอกทั้งสองฝั่งมีโซ่เหล็กขึงไว้ระหว่างป้อม เพื่อกันมิให้เรือใหญ่ผ่านไปมาได้ถ้าไม่ขออนุญาตเจ้าเมืองเสียก่อน [21]

กบฏมักกะสัน โดยสุพจน์ คุณานุคุณ, หนังสือการ์ตูน, 13x19cm. 1,000 เล่มๆละ 1 บาท

ครั้งเมืองกรุงเทพฯได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยปฐมบรมราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาราชธานีแห่งนี้ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา


จากนั้นในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกเสีย พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายชุมชนการค้าของชาวจีนและญวนในบริเวณนั้นให้ร่นไปอยู่ที่สำเพ็ง นางเลิ้งและท่าเตียน

บางกอกฝั่งตะวันออก สมัยต้นรัตนโกสินทร์

เพื่อก่อสร้างพระบรมมหาราชวังตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพระนครและพระมหาปราสาทราชนิเวศน์สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2328 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี แล้วพระราชทานนามพระนครใหม่นี้ว่า


กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์


นามพระนครที่ปรากฏในเอกสารหลายฉบับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า กรุงเทพฯมีบรรพบุรุษเป็นทวาราวดีและศรีอยุธยาตามคติรามายณะ[22] ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนสร้อย “บวรทวารวดีศรีอยุธยา” เป็นอมรรัตนโกสินทร์

บางกอก, ราชันย์ กล่อมเกลี้ยง, พ่นพนัง, 10 x4 m.


จะเห็นได้ว่านามเมืองกรุงเทพฯนั้นหมายความถึงเมืองที่ท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ เป็นเนรมิตกรรมอันยิ่งใหญ่เหนือความยิ่งใหญ่ทั้งปวง เป็นพระนครซึ่งเปรียบได้กับนครเทพวิมานของเหล่าทวยเทพ และเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครแห่งถวยเทพซึ่งมีความงดงามอันมั่นคงเจริญยิ่งและไม่มีผู้ใดรบชนะได้ มีความบริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่น รมย์อย่างยิ่ง และมีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมาสถิตสถาพร

หากลองพิจารณาภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ในฐานะสิ่งที่ถูกผลิตสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเชิงนิรุกติศาสตร์ ภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ช่วยให้เราทำความเข้าใจกรุงเทพฯได้อย่างไร? หนังสือบูรพานิยม (Orientalism, 1978) ของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said, ค.ศ. 1935-2003) อธิบายอ้างอิงและสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดเรื่องจิตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

เนื่องจากสถานที่หรือเทศะของเมืองอย่างกรุงเทพฯ นั้นเคยและยังคงถูกจินตนาการไปพร้อมๆกับการเป็นภาพตัวแทนในงานศิลปะไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของรัฐที่กำหนดทิศทางและนโยบายประเทศ ส่งผลให้จินตภาพแนวคิดและประสบการณ์ของปัจเจกที่เห็นต่างกลายเป็นปฏิปักษ์ ในมุมมองแบบศูนย์กลางที่พรรณนาถึงเมืองซึ่งมีความเป็นนิยัตินิยมทางสิ่งแวดล้อม (environmental determinism) และแนวโน้มของเมืองที่มีตัวแสดงและปัจจัยบางอย่างที่มีอิทธิพลมากเกินไป [23]


เมื่อการผลิตซ้ำจินตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองหลวงในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ แม้ในชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล หรือแม้แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะที่มหาชนให้ความสนใจ การเปิดเผยสถาปัตยกรรมเชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์อาจช่วยให้เรามองกรุงเทพฯ เมืองศูนย์กลางมหานครแห่งนี้ได้อย่างกว้างขว้างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไม่น้อย

ประวัติศาสตร์หมายความ…, เซบาสเตียน ทายัค, บางกอกหลอกชั้นวารสาร ฉบับที่ 1/1 เมษายน, วีดิโอ, สี, เสียง, วน

อีกทั้งยังทำให้สิ่งที่เป็น ”สามัญสำนึก” ซึ่งเราคุ้นชินจนบางครั้งอาจทึกทักเอาว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ คล้ายกับเป็นธรรมชาติที่เชื่องชาว่าง่าย แต่สิ่งเหล่านี้อาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เรื่องธรรมดาที่ดูสามัญอาจกลายเป็นสิ่งที่น่าค้นหาไม่เพียงแค่ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบเท่านั้น


การตีความและการสร้างความหมายใหม่ด้วยกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะชุดความจริงชุดหนึ่งที่นำมาใช้คลี่คลายชั้นตะกอนที่ทับถมกันกลายเป็นมหานครกรุงเทพฯที่เราคุ้นตาแต่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากเทศะเชิงประวัติศาสตร์ของมหานครแห่งนี้ซึ่งได้ถูกทำลายไปครั้งแล้วครั้งเล่า


การเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนคือพื้นฐานที่เป็นบัญญัติหวงห้ามมิให้ผู้ใดรื้อถอน หรือแม้แต่การตั้งคำถามก็ดูเป็นสิ่งไม่สมควรและเป็นการลบหลู่บรรพบุรุษที่สร้างชาติโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของชุมชนจินตกรรมตามทัศนะของ เบน แอนเดอร์สัน หลายครั้งอาจเลยเถิดไปว่าเป็นพวกชังชาติสำหรับพวกคลั่งชาติไปเลยก็มี

ภาพซ้าย ผู้ว่าการเมืองบางกอก Chevalier de Forbin (1656 – 1733) วราวุธ ศรีโสภาค 1685–1688, สีน้ำมัน, 70×60 cm. ภาพขวา Portrait of Claude de Forbin by Antoine Graincourt, 18th century

ลองขบกันคิดอีกครั้งว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรุงเทพมหานครฯ ในปัจจุบันหากการปฏิวัติยึดอำนาจในปี คศ. 1688 ไม่เป็นผลสำเร็จและป้อมบางกอกสร้างเสร็จเปิดใช้งานตามวัตถุประสงค์ของมัน? เป็นไปได้ว่าป้อมแห่งนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาพื้นที่บางกอกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็นพื้นที่ที่สำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ พื้นที่เชิงเศรษฐกิจการค้าระดับนานาชาติทดแทนกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้


เพราะ [การไม่รู้ประวัติศาสตร์เท่ากับคุณตาบอดหนึ่งข้าง แต่การเชื่อประวัติศาสตร์อย่างไม่มีข้อกังขาเท่ากับคุณตาบอดทั้งสองข้าง] ตามที่อาจารย์ ญาณวิทย์ เกษตรศิริ กล่าว คุณว่าไหม?

ชีว-พจนานุกรม, หงจัง หลิน (PhD.), ระบายสีบนพนัง, ขนาดผันแปรตามพื้นที่, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ, 420×297 cm.

เอกสารอ้างอิง

 16 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน? (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548), 17.
 17 เรื่องเดียวกัน, 18.
 18 ในหนังสือเรื่องเก่าเล่าปัจจุบัน โดย โรม บุนนาค ระบุพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปีมะโรง จุลศักราช 884 (พ.ศ. 2065) สมเด็จพระชัยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก จากปากคลองบางกอกน้อยเวลานี้ ไปทะลุตรงปากคลองบางกอกใหญ่ คลองลัดบางกอกถูกน้ำกัดเซาะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ... ดูรายละเอียดที่: https://www.thairath.co.th/content/124803
 19 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 41.
 20 เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2228 พร้อมกับคณะราชทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงแต่งตั้งเป็นราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับพระนารายณ์มหาราช ฟอร์บัง ได้สมัครอยู่รับราชการเป็นผู้สร้างป้อมบางกอกและฝึกหัดทหารไทยตามยุทธวินัยฝรั่งเศส พระนารายณ์มหาราชได้ทรงตั้งให้เป็นนายพลผู้บัญชาการทัพเรือและทัพบก และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระศึกสงคราม ดูรายละเอียดใน: หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล, ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 50 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 80) จดหมายเหตุฟอร์บัง (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2513), 5.
 21 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 50.
 22 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 122.
 23 จิตติภัทร พูนขำ แปล, ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), 32. 
29791162_1970179209965915_958286596208066560_o

เพียงแค่คำกล่าวอ้างบนฟางเส้นสุดท้าย

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หากเรามองไปรอบๆพื้นที่ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม พื้นที่ที่ควรมีความหลากหลายทางความคิดภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ คนบางกลุ่มบางพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของฝ่ายประชาธิปไตยมีอยู่ทั่วไป ทำไมการไม่ยอม รับความแตกต่างจึงใกล้ตัวเช่นนี้ และพวกเขากล่าวอ้างกันอย่างไร

อุดมการณ์ซ้าย-ขวานั้นเกิดขึ้นในโลกมานานแล้ว ฝ่ายขวาคือพวกนิยมเผด็จการ ต้องการความเป็นรัฏ ฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุด อยู่ในกรอบระเบียบภายใต้คำสั่ง มีความสงบความมั่นคง เชิดชูอุดมการณ์ชาติ นิยม คลั่งชาติและมักมีทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว เชิดชูเผ่าพันธุ์ชาติตัวเองสูงส่งกว่าใครอื่นเสมอ รวมทั้งมักยกย่องคนมีฐานะมีหน้ามีตาในสังคม โดยมองว่าคนยากคนจนคือพวกคนขี้เกียจ คนไร้การศึกษา น่าสงสาร-สมเพช โดยมากเป็นคนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมือง อาทิกลุ่มที่ร่วมกันเป่านกหวีด ฯลฯ


ส่วนฝ่ายซ้าย หมายถึงพวกแหกกฎกติกา ที่เห็นว่าเป็นกรอบอันล้าหลัง และขาดซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล เป็นนักเสรีนิยมที่ไม่ชอบการตีกรอบทางความคิด ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนยากคนจนและคนด้อยโอกาส โดยมองมนุษย์มีความเท่าเทียมกันและมองเห็นว่าความยากจนนั้นแท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการถูกกีดกันให้คนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้โดยทัดเทียม เป็นผู้เรียกร้องการยอมรับความหลากหลายของเผ่าพันธุ์วรรณนา ปฏิเสธความคิดแบบชาตินิยม เพราะเชื่อว่ามนุษย์ในทุกสังคมมีที่มาจากความหลากหลายเชื้อชาติ


ในยามที่อุดมการณ์ขวาพิฆาตในสังคมไทยได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งโดยบุคคลสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารระดับสูง นักการเมืองสอบตกหรือสอบผ่าน ดารานักแสดงนักร้องหรือแม้แต่ศิลปินนักออกแบบผู้ปวารณาตนต่อกระบวนการชาตินิยม ฯลฯ

การให้ร้ายกระบวนการฝ่ายซ้ายให้ดูด้อยค่าด้อยราคา จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์การตอบโต้จากฝ่ายขาวชาตินิยมแบบสุดโต่ง ถูกนำกลับมาใช้อย่างมีนัยสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า คล้ายกับหนังม้วนเก่าที่กลุ่มคนบางประเภทพยายามนำมาฉายใหม่ หรือแม้แต่การผลิตซ้ำวาทกรรมเดิมๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองและมุ่งให้เกิดความรุนแรง


วาทกรรมที่ว่านั้นหากสำริดผลขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ผลิตสร้าง มันสามารถขยายผลกลายเป็นเป็น ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐหรือผู้มีอำนาจและมีอิทธิพล เพื่อปลุกเร้ากระบวนการขวาพิฆาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการต่อต้านและประชาทัณฑ์ผู้ที่เห็นต่างด้วยการประหัตประหารโดยเลือดเย็น และไม่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

ในทางกลับกันฟางเส้นสุดท้ายก็บังเกิดขึ้นกับกระบวนการฝ่ายซ้ายได้เช่นกัน เมื่อพวกเขาต้องแบกรับการกดขี่คุกคามจากฝ่ายขาวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนบรรลุเป็นฉันทามติร่วมกันในการที่จะปลดแอกต่อสู่เพื่อความเป็นไทแก่ตนเองและเพื่อสังคมที่ดีกว่า

แน่นนอนว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ว่านั้นมิได้มีเพียงเส้นเดียว เนื่องจากกลุ่มกระบวนการขวาและซ้ายมิได้มีเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฟางเส้นนี้จึงเป็นฟางเส้นสำคัญเฉพาะแต่ละกลุ่ม แต่ต่างก็มีเป้าหมายร่วมกัน นั้นก็หมายความว่าฝ่ายขวาหรือผู้ครองอำนาจนำ ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพื้นที่ครอบครองเชิงอำนาจของตนและพวกพ้องไว้อย่างเหนียวแน่น


ในขณะที่กระบวนการฝ่ายซ้ายจำเป็นต้องขยายพื้นที่ความเห็นชอบเชิงเหตุและผล และทำความเข้าใจต่อผู้เห็นต่างให้หันกลับมาเป็นแนวร่วมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายร่วมกันที่ว่าสังคมจะดีได้ด้วยการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความมีเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ


จากกรณีศึกษาเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519 จะเห็นได้ชัดว่ากระบวนการขวาพิฆาต อ้างถึงฟางเส้นสุดท้ายหลายต่อหลายเส้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหมิ่นสถาบันฯ การทำลายพระพุทธศาสนา และการถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่การปกครองในลัทธิคอมมิวนิสต์ ดูมันเข้าอีหรอบพวกชังชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ในพ.ศ. นี้อย่างมีนัยสำคัญ

เพียงเพื่อสนองความเชื่อแบบสุดโต่งซึ่งนำไปสู่การกระทำอันไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ที่กระทำต่อกระบวนการของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขามีฟางเส้นสุดท้ายเพียงเส้นเดียวคือ หลักการประชาธิปไตย


ตัวอย่างข้ออ้างของฟางแต่ละเส้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบเข่นฆ่า และประชาทัณฑ์บรรดานักเรียนนิสิตนักศึกษาอย่างบ้าคลั่งจากกระบวนการฝ่ายขวาพิฆาตในกรณี 6 ตุลาคม 2519


  • 1. หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา แต่ปรากฏว่าใบหน้าผู้แสดงของนักศึกษาคือ นายอภินันท์ บัวหภักดี เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชในเวลานั้นอย่างไม่คาดหมาย

  • 2. ต่อมาหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้เลือกเอารูปการแสดงละครของนายอภินันท์ที่มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชมากที่สุด เพื่อตีพิมพ์ประโคมข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม โดยพิมพ์ใหม่อย่างรวดเร็วแล้วออกเผยแพร่โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเจตจำนงในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของคอมมิวนิสต์
  • 3. สถานีวิทยุทหารทุกแห่งออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดมผู้รักชาติจำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล โดยอ้างเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เอง

  • 4. การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ กล่าวโดย กิตติวุฑโฒภิกขุ

  • 5. พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาต้องการขับไล่พระถนอม ว่ามีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ จากนั้นสถานีวิทยุยานเกราะและ นสพ.ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. ไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม

  • 6. กิตติวุฑโฒภิกขุ ย้ำว่าการบวชของพระถนอมครั้งนี้ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์

  • 7. คุณหญิงเกษหลง สนิทวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์ ได้แถลงว่า สมเด็จพระราชินีให้มาบอกว่าได้ทราบว่าจะมีคนใจร้ายจะมาเผาวัดบวรนิเวศ จึงทรงมีความห่วงใยอย่างมาก ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกันอย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด

  • 8. พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด

  • 9. นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดบวรฯ กลางดึกแสดงให้เห็นว่าพระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป

  • 10. นายส่งสุข ภัคเกษม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายขวา ได้ออกมาแถลงข่าวใส่ร้ายกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มของนายดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ และนายชวน หลีกภัย คือ ท่อน้ำเลี้ยงจ่ายเงินให้แก่ศูนย์นิสิต 8 แสนบาท

  • 11. ชมรมแม่บ้านเรียกร้องให้คงเรดาห์ของอเมริกาไว้ในประเทศไทย แทนที่จะเห็นว่าการตั้งเรดาห์ของสหรัฐเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศและรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน โดยชมรมแม่บ้านซึ่งก่อตั้งโดยทมยันตี

  • 12. กลุ่มแม่บ้าน เรียกร้องให้นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์, นายชวน หลีกภัย และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี และให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคนโดยใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด

  • 13. กิจการลูกเสือชาวบ้านนำโดย พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก” (คำให้การของสุรินทร์ มาศดิตถ์)

  • 14. ลูกเสือชาวบ้านเคลื่อนย้ายกำลังไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยอ้างว่าเพื่อถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเกรงว่าจะมีพวก” หนักแผ่นดิน” มาบุก
  • 15. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้านแจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหวโจมตี

  • 16. หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ประโคมข่าวเรื่องแผน 3 ขั้นตอนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่จะยึดกรุงเทพฯ จากนั้นชมรมวิทยุเสรีก็รับเอาเรื่องนี้ไปประโคมในหมู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความหวาดวิตกว่าคอมมิวนิสต์จะยึดเมือง

  • 17. เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยสถานีวิทยุยานเกราะเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 30,000 คนเพื่อคนจำนวนสี่สิบสามล้านคน

  • 18. สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

  • 19. กลุ่มนวพลในนาม(ศูนย์ประสานงานเยาวชน) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด

  • 20. นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกลุ่มกระทิงแดง ได้เปิดเผยหลักการทำงานของกระทิงแดงว่า จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป

  • 21. นายสุชาติ ประไพหอม ผู้นำกลุ่มกระทิงแดง ประกาศตั้งแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ และประกาศให้ไม่ให้ประชาชนใช้ถนนราชดำเนินซึ่งนักศึกษาใช้เดินขบวนถ้าไม่เชื่อจะไม่รับรองความปลอดภัย

  • 22. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดนที่ติดอาวุธหนักครบมือ เช่นปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง หรือ ปรส. และปืนครก บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์


*หลังจากเหตุการณ์ นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯในขณะนั้น ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหารพวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ


เอกสารอ้างอิง

บันทึก 6 ตุลาDocumentation of Oct 6 https://doct6.com/learn-about/how/chapter-6