บางกอกหลอกชั้น [Exhibition review] Part.2

baannoorg publication

[Interdisciplinary art]

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

บางกอกหลอกชั้น

ราว 5,000 ปีที่แล้วจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 10 ช่วงต้นของอาณาจักรทวารวดีเริ่มขึ้นในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง ตามบันทึกของหลวงจีนจี้ชิงที่เรียกอาณาจักรแถบนั้นว่าโต-โล-โป-ตี้ ในเวลานั้น กรุงเทพฯ ยังจมอยู่ใต้ทะเลโคลนตม โดยบางแห่งได้เริ่มแข็งตัวเป็นผืนแผ่นดินมากขึ้น มีป่าชายเลนไม้โกงกาง และเกิดแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่หลายสาขา เป็นเส้นทางคมนาคมออกสู่ทะเลอ่าวไทยขยายขึ้นเรื่อยๆ

ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ ที่มา: http://paipibat.com/?p=3493

บางแห่งเป็นที่ดอนสูง มีผู้คนตั้งหลักแหล่งประปรายเป็นหย่อมๆ ห่างไกลกัน นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหินและโลหะตกค้างฝังดินและจมโคลนตมอยู่บ้าง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีผู้คนยุคดึกดำบรรพ์เดินทางผ่านไปมาบ้างแล้ว [16]

ภูมิ-จินตนา, อวิกา สมัครสมาน, ทอผ้า 297×420/ 420×594 cm.,

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ขึ้นขนานใหญ่ บ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย เช่น อโยธยาศรีรามเทพนคร พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางน้ำกว้างใหญ่ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (oxbow lake) ผ่านกรุงเทพฯ [17] ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในฐานะเมืองทางผ่านและเป็นหน้าด่านสำคัญจวบจนเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนบ้านเรือนเก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้ปรากฏชื่ออยู่ในโคลงกำสรวลสมุทรหรือกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมเก่าแก่มาแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

Cartography of Bangkok 1688-

เมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯในปัจจุบัน เดิมทีหมายรวมดินแดนทั้งสองฟากแม่น้ำ (เจ้าพระยา) มิได้แยกเป็นฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี พื้นที่บริเวณนี้ปรากฏเป็นชุมชนบ้านเรือนขนาดย่อมที่มีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำมาแต่อดีต เป็นจุดพักเรือนานาประเทศ

Something Like a Thing, Sometime Like Every Time, อนุพงศ์ เจริญมิตร, วีดิโอจัดวาง, สี, เสียง, วน

ผู้คนเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น จนเติบโตเป็นชุมชนเมืองขึ้นตามลำดับหลังการขุดคลองลัดบางกอก[18] สำเร็จในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089) ยังผลให้การค้าขายเติบโตมั่งคั่ง บรรดาพ่อค้าจากตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น จาม ชวา มาลายู และตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ เปอร์เชีย อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส ฯลฯ

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

ต่างก็เดินทางเข้ามายังบางกอกและผ่านขึ้นเหนือสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ครั้นสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) บางกอกก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับกรุงหงสาวดีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2112 [19]


เมืองบางกอกยังปรากฏบันทึกคำบอกเล่าในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 (Chronicles of the Ayuthian Dynasty: Jeremias van Vliet, ผู้จัดการสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 2176-2199)

Jeremias van Vliet (1602–1663)

ปรากฏชื่อเมืองสำคัญตามความในพงศวดารฯตำนานเรื่องท้าวอู่ทองผู้สร้างเมืองต่างๆ เช่นเมืองลังกาสุกะ (Langhseca) เมืองสีคร (Lijgoor) เมืองกุย (Cuij) เมืองพริบพรี (Piprij) เมืองคองขุนเทียน (Chongh Cout Thiam) เมืองบางกอก (Banckocq) และเมืองอยุธยา (Ayuthian)


จะเห็นได้ว่าบางกอกมีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ เป็นเมืองท่าหน้าด่านเข้าออกและเป็นสถานที่สำคัญที่สุดแห่งเดียวในราชอาณาจักรสยามที่มีป้อมปราการแข็งแรงป้องกันข้าศึกได้ ตามบันทึกจดหมายเหตุของราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise, 1663-1729)

เอกสารจากยุโรปหลายชิ้นเรียกป้อมปราการทั้ง 2 ฟากแม่น้ำนี้ว่า “ป้อมเมืองบางกอก” ในบันทึกของฟอร์บัง[20] กล่าวว่าที่ป้อมบางกอกทั้งสองฝั่งมีโซ่เหล็กขึงไว้ระหว่างป้อม เพื่อกันมิให้เรือใหญ่ผ่านไปมาได้ถ้าไม่ขออนุญาตเจ้าเมืองเสียก่อน [21]

กบฏมักกะสัน โดยสุพจน์ คุณานุคุณ, หนังสือการ์ตูน, 13x19cm. 1,000 เล่มๆละ 1 บาท

ครั้งเมืองกรุงเทพฯได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยปฐมบรมราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาราชธานีแห่งนี้ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา


จากนั้นในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกเสีย พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายชุมชนการค้าของชาวจีนและญวนในบริเวณนั้นให้ร่นไปอยู่ที่สำเพ็ง นางเลิ้งและท่าเตียน

บางกอกฝั่งตะวันออก สมัยต้นรัตนโกสินทร์

เพื่อก่อสร้างพระบรมมหาราชวังตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพระนครและพระมหาปราสาทราชนิเวศน์สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2328 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี แล้วพระราชทานนามพระนครใหม่นี้ว่า


กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์


นามพระนครที่ปรากฏในเอกสารหลายฉบับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า กรุงเทพฯมีบรรพบุรุษเป็นทวาราวดีและศรีอยุธยาตามคติรามายณะ[22] ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนสร้อย “บวรทวารวดีศรีอยุธยา” เป็นอมรรัตนโกสินทร์

บางกอก, ราชันย์ กล่อมเกลี้ยง, พ่นพนัง, 10 x4 m.


จะเห็นได้ว่านามเมืองกรุงเทพฯนั้นหมายความถึงเมืองที่ท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ เป็นเนรมิตกรรมอันยิ่งใหญ่เหนือความยิ่งใหญ่ทั้งปวง เป็นพระนครซึ่งเปรียบได้กับนครเทพวิมานของเหล่าทวยเทพ และเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครแห่งถวยเทพซึ่งมีความงดงามอันมั่นคงเจริญยิ่งและไม่มีผู้ใดรบชนะได้ มีความบริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่น รมย์อย่างยิ่ง และมีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมาสถิตสถาพร

หากลองพิจารณาภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ในฐานะสิ่งที่ถูกผลิตสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเชิงนิรุกติศาสตร์ ภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ช่วยให้เราทำความเข้าใจกรุงเทพฯได้อย่างไร? หนังสือบูรพานิยม (Orientalism, 1978) ของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said, ค.ศ. 1935-2003) อธิบายอ้างอิงและสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดเรื่องจิตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

เนื่องจากสถานที่หรือเทศะของเมืองอย่างกรุงเทพฯ นั้นเคยและยังคงถูกจินตนาการไปพร้อมๆกับการเป็นภาพตัวแทนในงานศิลปะไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของรัฐที่กำหนดทิศทางและนโยบายประเทศ ส่งผลให้จินตภาพแนวคิดและประสบการณ์ของปัจเจกที่เห็นต่างกลายเป็นปฏิปักษ์ ในมุมมองแบบศูนย์กลางที่พรรณนาถึงเมืองซึ่งมีความเป็นนิยัตินิยมทางสิ่งแวดล้อม (environmental determinism) และแนวโน้มของเมืองที่มีตัวแสดงและปัจจัยบางอย่างที่มีอิทธิพลมากเกินไป [23]


เมื่อการผลิตซ้ำจินตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองหลวงในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ แม้ในชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล หรือแม้แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะที่มหาชนให้ความสนใจ การเปิดเผยสถาปัตยกรรมเชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์อาจช่วยให้เรามองกรุงเทพฯ เมืองศูนย์กลางมหานครแห่งนี้ได้อย่างกว้างขว้างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไม่น้อย

ประวัติศาสตร์หมายความ…, เซบาสเตียน ทายัค, บางกอกหลอกชั้นวารสาร ฉบับที่ 1/1 เมษายน, วีดิโอ, สี, เสียง, วน

อีกทั้งยังทำให้สิ่งที่เป็น ”สามัญสำนึก” ซึ่งเราคุ้นชินจนบางครั้งอาจทึกทักเอาว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ คล้ายกับเป็นธรรมชาติที่เชื่องชาว่าง่าย แต่สิ่งเหล่านี้อาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เรื่องธรรมดาที่ดูสามัญอาจกลายเป็นสิ่งที่น่าค้นหาไม่เพียงแค่ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบเท่านั้น


การตีความและการสร้างความหมายใหม่ด้วยกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะชุดความจริงชุดหนึ่งที่นำมาใช้คลี่คลายชั้นตะกอนที่ทับถมกันกลายเป็นมหานครกรุงเทพฯที่เราคุ้นตาแต่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากเทศะเชิงประวัติศาสตร์ของมหานครแห่งนี้ซึ่งได้ถูกทำลายไปครั้งแล้วครั้งเล่า


การเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนคือพื้นฐานที่เป็นบัญญัติหวงห้ามมิให้ผู้ใดรื้อถอน หรือแม้แต่การตั้งคำถามก็ดูเป็นสิ่งไม่สมควรและเป็นการลบหลู่บรรพบุรุษที่สร้างชาติโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของชุมชนจินตกรรมตามทัศนะของ เบน แอนเดอร์สัน หลายครั้งอาจเลยเถิดไปว่าเป็นพวกชังชาติสำหรับพวกคลั่งชาติไปเลยก็มี

ภาพซ้าย ผู้ว่าการเมืองบางกอก Chevalier de Forbin (1656 – 1733) วราวุธ ศรีโสภาค 1685–1688, สีน้ำมัน, 70×60 cm. ภาพขวา Portrait of Claude de Forbin by Antoine Graincourt, 18th century

ลองขบกันคิดอีกครั้งว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรุงเทพมหานครฯ ในปัจจุบันหากการปฏิวัติยึดอำนาจในปี คศ. 1688 ไม่เป็นผลสำเร็จและป้อมบางกอกสร้างเสร็จเปิดใช้งานตามวัตถุประสงค์ของมัน? เป็นไปได้ว่าป้อมแห่งนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาพื้นที่บางกอกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็นพื้นที่ที่สำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ พื้นที่เชิงเศรษฐกิจการค้าระดับนานาชาติทดแทนกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้


เพราะ [การไม่รู้ประวัติศาสตร์เท่ากับคุณตาบอดหนึ่งข้าง แต่การเชื่อประวัติศาสตร์อย่างไม่มีข้อกังขาเท่ากับคุณตาบอดทั้งสองข้าง] ตามที่อาจารย์ ญาณวิทย์ เกษตรศิริ กล่าว คุณว่าไหม?

ชีว-พจนานุกรม, หงจัง หลิน (PhD.), ระบายสีบนพนัง, ขนาดผันแปรตามพื้นที่, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ, 420×297 cm.

เอกสารอ้างอิง

 16 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน? (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548), 17.
 17 เรื่องเดียวกัน, 18.
 18 ในหนังสือเรื่องเก่าเล่าปัจจุบัน โดย โรม บุนนาค ระบุพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปีมะโรง จุลศักราช 884 (พ.ศ. 2065) สมเด็จพระชัยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก จากปากคลองบางกอกน้อยเวลานี้ ไปทะลุตรงปากคลองบางกอกใหญ่ คลองลัดบางกอกถูกน้ำกัดเซาะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ... ดูรายละเอียดที่: https://www.thairath.co.th/content/124803
 19 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 41.
 20 เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2228 พร้อมกับคณะราชทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงแต่งตั้งเป็นราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับพระนารายณ์มหาราช ฟอร์บัง ได้สมัครอยู่รับราชการเป็นผู้สร้างป้อมบางกอกและฝึกหัดทหารไทยตามยุทธวินัยฝรั่งเศส พระนารายณ์มหาราชได้ทรงตั้งให้เป็นนายพลผู้บัญชาการทัพเรือและทัพบก และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระศึกสงคราม ดูรายละเอียดใน: หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล, ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 50 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 80) จดหมายเหตุฟอร์บัง (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2513), 5.
 21 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 50.
 22 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 122.
 23 จิตติภัทร พูนขำ แปล, ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), 32. 
29791162_1970179209965915_958286596208066560_o

เพียงแค่คำกล่าวอ้างบนฟางเส้นสุดท้าย

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หากเรามองไปรอบๆพื้นที่ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม พื้นที่ที่ควรมีความหลากหลายทางความคิดภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ คนบางกลุ่มบางพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของฝ่ายประชาธิปไตยมีอยู่ทั่วไป ทำไมการไม่ยอม รับความแตกต่างจึงใกล้ตัวเช่นนี้ และพวกเขากล่าวอ้างกันอย่างไร

อุดมการณ์ซ้าย-ขวานั้นเกิดขึ้นในโลกมานานแล้ว ฝ่ายขวาคือพวกนิยมเผด็จการ ต้องการความเป็นรัฏ ฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุด อยู่ในกรอบระเบียบภายใต้คำสั่ง มีความสงบความมั่นคง เชิดชูอุดมการณ์ชาติ นิยม คลั่งชาติและมักมีทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว เชิดชูเผ่าพันธุ์ชาติตัวเองสูงส่งกว่าใครอื่นเสมอ รวมทั้งมักยกย่องคนมีฐานะมีหน้ามีตาในสังคม โดยมองว่าคนยากคนจนคือพวกคนขี้เกียจ คนไร้การศึกษา น่าสงสาร-สมเพช โดยมากเป็นคนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมือง อาทิกลุ่มที่ร่วมกันเป่านกหวีด ฯลฯ


ส่วนฝ่ายซ้าย หมายถึงพวกแหกกฎกติกา ที่เห็นว่าเป็นกรอบอันล้าหลัง และขาดซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล เป็นนักเสรีนิยมที่ไม่ชอบการตีกรอบทางความคิด ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนยากคนจนและคนด้อยโอกาส โดยมองมนุษย์มีความเท่าเทียมกันและมองเห็นว่าความยากจนนั้นแท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการถูกกีดกันให้คนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้โดยทัดเทียม เป็นผู้เรียกร้องการยอมรับความหลากหลายของเผ่าพันธุ์วรรณนา ปฏิเสธความคิดแบบชาตินิยม เพราะเชื่อว่ามนุษย์ในทุกสังคมมีที่มาจากความหลากหลายเชื้อชาติ


ในยามที่อุดมการณ์ขวาพิฆาตในสังคมไทยได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งโดยบุคคลสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารระดับสูง นักการเมืองสอบตกหรือสอบผ่าน ดารานักแสดงนักร้องหรือแม้แต่ศิลปินนักออกแบบผู้ปวารณาตนต่อกระบวนการชาตินิยม ฯลฯ

การให้ร้ายกระบวนการฝ่ายซ้ายให้ดูด้อยค่าด้อยราคา จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์การตอบโต้จากฝ่ายขาวชาตินิยมแบบสุดโต่ง ถูกนำกลับมาใช้อย่างมีนัยสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า คล้ายกับหนังม้วนเก่าที่กลุ่มคนบางประเภทพยายามนำมาฉายใหม่ หรือแม้แต่การผลิตซ้ำวาทกรรมเดิมๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองและมุ่งให้เกิดความรุนแรง


วาทกรรมที่ว่านั้นหากสำริดผลขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ผลิตสร้าง มันสามารถขยายผลกลายเป็นเป็น ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐหรือผู้มีอำนาจและมีอิทธิพล เพื่อปลุกเร้ากระบวนการขวาพิฆาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการต่อต้านและประชาทัณฑ์ผู้ที่เห็นต่างด้วยการประหัตประหารโดยเลือดเย็น และไม่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

ในทางกลับกันฟางเส้นสุดท้ายก็บังเกิดขึ้นกับกระบวนการฝ่ายซ้ายได้เช่นกัน เมื่อพวกเขาต้องแบกรับการกดขี่คุกคามจากฝ่ายขาวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนบรรลุเป็นฉันทามติร่วมกันในการที่จะปลดแอกต่อสู่เพื่อความเป็นไทแก่ตนเองและเพื่อสังคมที่ดีกว่า

แน่นนอนว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ว่านั้นมิได้มีเพียงเส้นเดียว เนื่องจากกลุ่มกระบวนการขวาและซ้ายมิได้มีเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฟางเส้นนี้จึงเป็นฟางเส้นสำคัญเฉพาะแต่ละกลุ่ม แต่ต่างก็มีเป้าหมายร่วมกัน นั้นก็หมายความว่าฝ่ายขวาหรือผู้ครองอำนาจนำ ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพื้นที่ครอบครองเชิงอำนาจของตนและพวกพ้องไว้อย่างเหนียวแน่น


ในขณะที่กระบวนการฝ่ายซ้ายจำเป็นต้องขยายพื้นที่ความเห็นชอบเชิงเหตุและผล และทำความเข้าใจต่อผู้เห็นต่างให้หันกลับมาเป็นแนวร่วมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายร่วมกันที่ว่าสังคมจะดีได้ด้วยการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความมีเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ


จากกรณีศึกษาเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519 จะเห็นได้ชัดว่ากระบวนการขวาพิฆาต อ้างถึงฟางเส้นสุดท้ายหลายต่อหลายเส้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหมิ่นสถาบันฯ การทำลายพระพุทธศาสนา และการถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่การปกครองในลัทธิคอมมิวนิสต์ ดูมันเข้าอีหรอบพวกชังชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ในพ.ศ. นี้อย่างมีนัยสำคัญ

เพียงเพื่อสนองความเชื่อแบบสุดโต่งซึ่งนำไปสู่การกระทำอันไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ที่กระทำต่อกระบวนการของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขามีฟางเส้นสุดท้ายเพียงเส้นเดียวคือ หลักการประชาธิปไตย


ตัวอย่างข้ออ้างของฟางแต่ละเส้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบเข่นฆ่า และประชาทัณฑ์บรรดานักเรียนนิสิตนักศึกษาอย่างบ้าคลั่งจากกระบวนการฝ่ายขวาพิฆาตในกรณี 6 ตุลาคม 2519


  • 1. หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา แต่ปรากฏว่าใบหน้าผู้แสดงของนักศึกษาคือ นายอภินันท์ บัวหภักดี เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชในเวลานั้นอย่างไม่คาดหมาย

  • 2. ต่อมาหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้เลือกเอารูปการแสดงละครของนายอภินันท์ที่มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชมากที่สุด เพื่อตีพิมพ์ประโคมข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม โดยพิมพ์ใหม่อย่างรวดเร็วแล้วออกเผยแพร่โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเจตจำนงในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของคอมมิวนิสต์
  • 3. สถานีวิทยุทหารทุกแห่งออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดมผู้รักชาติจำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล โดยอ้างเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เอง

  • 4. การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ กล่าวโดย กิตติวุฑโฒภิกขุ

  • 5. พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาต้องการขับไล่พระถนอม ว่ามีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ จากนั้นสถานีวิทยุยานเกราะและ นสพ.ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. ไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม

  • 6. กิตติวุฑโฒภิกขุ ย้ำว่าการบวชของพระถนอมครั้งนี้ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์

  • 7. คุณหญิงเกษหลง สนิทวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์ ได้แถลงว่า สมเด็จพระราชินีให้มาบอกว่าได้ทราบว่าจะมีคนใจร้ายจะมาเผาวัดบวรนิเวศ จึงทรงมีความห่วงใยอย่างมาก ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกันอย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด

  • 8. พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด

  • 9. นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดบวรฯ กลางดึกแสดงให้เห็นว่าพระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป

  • 10. นายส่งสุข ภัคเกษม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายขวา ได้ออกมาแถลงข่าวใส่ร้ายกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มของนายดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ และนายชวน หลีกภัย คือ ท่อน้ำเลี้ยงจ่ายเงินให้แก่ศูนย์นิสิต 8 แสนบาท

  • 11. ชมรมแม่บ้านเรียกร้องให้คงเรดาห์ของอเมริกาไว้ในประเทศไทย แทนที่จะเห็นว่าการตั้งเรดาห์ของสหรัฐเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศและรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน โดยชมรมแม่บ้านซึ่งก่อตั้งโดยทมยันตี

  • 12. กลุ่มแม่บ้าน เรียกร้องให้นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์, นายชวน หลีกภัย และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี และให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคนโดยใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด

  • 13. กิจการลูกเสือชาวบ้านนำโดย พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก” (คำให้การของสุรินทร์ มาศดิตถ์)

  • 14. ลูกเสือชาวบ้านเคลื่อนย้ายกำลังไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยอ้างว่าเพื่อถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเกรงว่าจะมีพวก” หนักแผ่นดิน” มาบุก
  • 15. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้านแจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหวโจมตี

  • 16. หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ประโคมข่าวเรื่องแผน 3 ขั้นตอนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่จะยึดกรุงเทพฯ จากนั้นชมรมวิทยุเสรีก็รับเอาเรื่องนี้ไปประโคมในหมู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความหวาดวิตกว่าคอมมิวนิสต์จะยึดเมือง

  • 17. เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยสถานีวิทยุยานเกราะเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 30,000 คนเพื่อคนจำนวนสี่สิบสามล้านคน

  • 18. สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

  • 19. กลุ่มนวพลในนาม(ศูนย์ประสานงานเยาวชน) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด

  • 20. นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกลุ่มกระทิงแดง ได้เปิดเผยหลักการทำงานของกระทิงแดงว่า จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป

  • 21. นายสุชาติ ประไพหอม ผู้นำกลุ่มกระทิงแดง ประกาศตั้งแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ และประกาศให้ไม่ให้ประชาชนใช้ถนนราชดำเนินซึ่งนักศึกษาใช้เดินขบวนถ้าไม่เชื่อจะไม่รับรองความปลอดภัย

  • 22. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดนที่ติดอาวุธหนักครบมือ เช่นปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง หรือ ปรส. และปืนครก บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์


*หลังจากเหตุการณ์ นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯในขณะนั้น ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหารพวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ


เอกสารอ้างอิง

บันทึก 6 ตุลาDocumentation of Oct 6 https://doct6.com/learn-about/how/chapter-6

Parallel // ขนาน: จักรวาล คณิตศาสตร์ สังคมการเมืองและศิลปะ

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

  • Parallel // ขนาน คือหัวข้อที่กล่าวถึงในครั้งนี้ แต่ก่อนที่เราจะไปถึงรายละเอียดต่างๆในหัวข้อนั้น เรามาทำความเข้าใจร่วมกันว่า บทความต่อไปนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดการทดลอง การแสวงหาความรู้และการสร้างกระบวน การเรียนรู้ข้ามศาสตร์สำหรับนักศึกษาทัศนศิลป์ และในวงเล็บสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจพื้นที่คู่ขนานในสังคมร่วมสมัยอีกด้วย

โดยอาศัยวิธีวิทยาและแนวทางศึกษาจากผลงานของมิเซล ฟูโกต์ อันได้แก่ โบราณคดีแห่งความรู้ (The Archeology of Knowledge) และ วงศาวิทยา (Genealogy) เพื่อรื้อสร้าง เปิดโปง ลำดับชั้นทางความคิดที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และเผยให้เห็นกระบวนทัศน์เบื้องหลังการสถาปนาความจริง กรอบความคิดในลักษณะนี้ ต้องการอธิบายประวัติศาสตร์ของความคิด ความรู้ ว่าไม่ใช่การค้นพบความจริงเกี่ยวกับความรู้นั้นๆ หากเป็นเพียงการสะสมและการแตกหน่อ เป็นการแตกแขนงของชุดความรู้ที่ส่งต่อๆกันไปเหมือนการสืบสายทายาทวงศ์วาน ชุดความรู้หนึ่งจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานให้ชุดความรู้อีกชุดหนึ่งปรากฏเสมอ ความรู้จึงมิได้มีอยู่ด้วยตัวมันเองมันต้องอาศัยความรู้เดิมเป็นเชื้อเป็นหน่อให้มันเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์


ความรู้จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นและส่งต่อด้วยหลากหลายวิธี ฟูโกต์ชี้ว่าการทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เรามองประวัติศาสตร์แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นประวัติศาสตร์ของ ฟูโกต์จึงมิใช้หลักฐานของการมีอยู่ของความจริงซึ่งเป็นผลผลิตของยุคเหตุผล หรือยุคแห่งการรู้แจ้งทางปัญญา(Enlightenment) ที่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างทฤษฏีของความจริง ดังนั้นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จึงเป็นการวิเคราะห์อำนาจของวิทยาศาสตร์ที่บ่งการความจริงเท่านั้น และไม่มีความจริงใดๆ ที่ซ้อนอยู่ภายใต้ความรู้เนื่องจากความจริงเป็นเพียงผลผลิตของอำนาจที่ใช้สถาปนาความรู้ก็เท่านั้น และเป็นอำนาจที่พยายามทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติอันแท้ทรู

Parallel // ขนาน

ความหมายตามราชบัณฑิตยสถาน ขนาน ๑[ขะหฺนาน] น. หมู่ ลักษณะนามเรียกยาที่ปรุงขึ้น เช่น ยาขนานหนึ่ง ยา ๒ ขนาน.[ขะหฺนาน] ก. เรียงคู่กันไป เช่น เรือแล่นขนานกันไป วิ่งขนานกัน หรือเรียกเรือที่ผูกหรือตรึงติดเรียงคู่กันสำหรับข้ามฟาก ว่า เรือขนาน แพขนาน-ยนต์เรียก การตั้งชื่อ เช่น ขนานนาม ว่า ตั้งชื่อ. เช่นอิเหนาเมาหมัด น. เรียกเส้นตรงคู่ใด ๆ ซึ่งอยู่ห่างกันเป็นระยะเท่ากันโดยตลอด ว่า เส้นขนาน หรือเรียก ขฺนาน ว่า เทียบ

เมื่อพิจารณาคำว่า ขนาน ในเชิงภาษาจะพบว่า ขนาน บ่งชี้ถึงจำนวนที่มากกว่า 1 เสมอ ในคำคุณศัพท์ (adj) คำนาม (n.) และ กริยาที่ต้องการกรรม (Transitive Verbs) ขนานให้ความหมายว่า เท่าเทียมกัน เสมอกัน และการเปรียบเทียบ

  • parallel (adj.คุณศัพท์) ขนาน,เสมอ,เท่าเทียมกัน
  • parallel (n.นาม) เส้นขนาน,การเปรียบเทียบ
  • parallel (VT.กริยาต้องการกรรม) เสมอกัน,เปรียบเทียบ

คำว่า Parallel // ขนาน ถูกใช้อธิบายความรู้อย่างกว้างขวางในหลายสาขาวิชา นอกจากเพื่อขนานตัวมันเองแล้ว มันยังทำหน้าที่อธิบายจักรภพอีกเสียด้วย เช่น คำว่า parallel universe (จักรวาลขนาน) parallel universe นั้นถูกเรียกอีกอย่างว่า parallel dimension (มิติขนาน)


ในกรณีนี้ไม่ว่า dimension หรือ universe นั้นมีสิ่งขนานอยู่ไม่ว่าเราจะรับรู้มิติอื่นนอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์หรือไม่ก็ตาม parallel universe (จักรวาลขนาน) ปรากฏในแนวคิดพุทธปรัชญาในมโนทัศน์เรื่องจักรวาลวิทยาจากคัมภีร์สุตตันตปิฎก มีการระบุถึงโลกธาตุอื่นๆ ว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากในหมื่นจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงเกิดขึ้นในประเทศส่วนกลางแห่งชมพู-ทวีป ในจักรวาลนี้เท่านั้น (มหาโควินทสูตร : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ – 84000 พระธรรมขันธ์) คำกล่าวที่ว่า “มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น” ได้ก้าวข้ามตอบคำถามที่ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ไปเรียบร้อยแล้ว

ภาพจักรวาลวิทยา ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

ปัจจุบันมีผู้ที่ให้ความสนใจศึกษา parallel universe (จักรวาลขนาน) อย่างจริงจังท่านหนึ่งคือ Brian Greene (b.1963-) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ทฤษฏี (theoretical physicist) นักคณิตศาสตร์(mathematician)และ นักทฤษฎีสตริง(string theorist) แห่งมหาวิยาลัย Columbia University, New York


Greene ขนานลักษณะการซ้อมทับของโลกธาตุที่คลอบคุมทั้งหมดของ พื้นที่ เวลา สะสาร พลังงาน ข้อมูล(information) กฎฟิสิกส์และค่าคงที่รวมกันว่า multiverse (เป็นการสมาสคำ 2 คำคือ Multi (uni)verse) ซึ่งอธิบายความมีอยู่ของโลกธาตุอื่นๆ ด้วยฟิสิกส์ทฤษฏีการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

The Hidden Reality: Parallel Universes and the Deep Laws of the Cosmos

เมื่อพูดถึงนักฟิสิกส์ทฤษฏี โดยมากหลายๆคนรู้จักพวกเขาพอสมควร คือเมื่อเอ่ยชื่อขึ้นมาทุกคนต้องร้องอ๋อ… ตัวอย่าง 3 ท่าน เช่น Galileo Galilei (b.1564 – 1642) ใครชอบกินแอปเปิ้ลน่าจะรู้จักคนนี้ Isaac Newton (b.1643- 1727) และคนนี้สุดติ่งทุกคนรู้จักดีในภาพชายสูงวัยผมเผ้ากระเซิงและผูกเชือกรองเท้าไม่เป็น Albert Einstein (b.1879- 1955) ซึ่งลักษณะเช่นนี้พวกนักศึกษาศิลปะเรียกว่า “เซอร์

เราลองมาดูกันว่าทำไมนักฟิสิกส์ทฤษฏีจึงโหยหา Imagination กับคำกล่าวที่ว่า“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” วลีทองของ Einstein ได้ถูกบิดเบือนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะกับระบบการศึกษาด้านทัศน์ศิลป์ในประเทศไทย


ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ของการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยบางแห่ง ผู้เขียนเคยประสบกับตัวเองที่นักศึกษาพูดขึ้นว่า”โถ…จารย์ไม่เห็นต้องอ่านเลยหนังสือ…จินตนาการสำคัญกว่าความรู้นะจารย์” ต้องเข้าใจว่านักฟิสิกส์ทฤษฏีทุกคนเป็นนักคณิตศาสตร์


Galileo (b. 1564- 1642) กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าเป็นนักคณิตศาสตร์” ดังนั้นมนุษย์จะเข้าใจธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างได้ก็โดยใช้คณิตศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากคณิตศาสตร์ใช้ตรรกศาสตร์สัญลักษณ์และสัญกรณ์คณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้กิจกรรมทุกอย่างกระทำผ่านทางขั้นตอนและแบบจำลองที่ชัดเจนสัมบูรณ์(Absolute) โดยไม่จำเป็นต้องมีการอ้างถึงใดๆ จากโลกภายนอก นักคณิตศาสตร์หลายคนจึงทำงานเพื่อเป้าหมายเชิงสุนทรียภาพเท่านั้น G. H. Hardy (b.1877- 1947) แห่งวิทยาลัย Trinity มหาวิทยาลัย Cambridge มองว่าคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์เชิงศิลปะมากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้


แรงผลักดันในการทำงานของนักคณิตศาสตร์มีลักษณะไม่ต่างไปจาก ศิลปิน กวีและนักปรัชญา แน่นอนว่าศิลปินย่อมขาดซึ่งจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานมิได้ ฟิสิกส์ทฤษฏีก็เช่นกันแม้พวกเขาจะมีความรู้ที่จะสามารถเข้าใจพระเจ้าได้ มันจะดูย้อนแย้งไปไหมหากให้เรามาลองจินตนาการดูว่า พวกนักฟิสิกส์ทฤษฏีปราศจากจินตนาการเสียแล้ว พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามีหน้าตาเป็นอย่างไร หนังสือ A Mathematician’s Apology ของ Hardy แสดงให้เห็นถึงสุนทรีนยะภาพซึ่งคณิตศาสตร์ คือ ราชินีแห่งวิทยาศาสตร์และทฤษฏีจำนวน(Number theory) คือ ราชินีแห่งคณิตศาสตร์


หากใครอยากรู้จัก Hardy ให้ลองหาภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Knew Infinity เรื่องราวของ Ramanujan (b. 1887-1920) หนุ่มชาวอินเดีย ผู้ไม่มีดีกรีการศึกษา ไม่มีฐานะร่ำรวย แต่เป็นผู้ชื่นชอบคณิตศาสตร์ ในช่วงปีค.ศ. 1914–18 ขณะทำงานวิจัยตีโจทษ์เกี่ยวกับทฤษฏีจำนวน และอนุกรมอนันต์(infinity) ที่มหาวิทยาลัย Cambridge มาดู

Ramanujan: Twelve Lectures on Subjects Suggested by his Life and Work ตีพิมพ์ในปี1940

ตอนนี้เรามาดู Parallel // ขนาน ในมิติทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม ผ่านแนวคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci, b.1891- 1937) มาร์กซิสสายวัฒนธรรมกัน (Cultural Marxism) จะพบว่าในผลงานของ กรัมชี่ ปรากฏการใช้คำที่ให้ความหมายในลักษณะเดียวกับ Parallel // ขนาน ด้วยเช่นกัน

โดยกรัมชี่เลือกใช้คำว่า pairs หรือคู่ แทนคำว่าขนานเพื่อบ่งชี้ถึงจำนวนที่มากกว่า 1 เสมอ เช่นเดียวกัน หากพิจารณาเชิงคุณศัพท์ pairs หรือคู่ที่ กรัมชี่ ใช้แสดงให้เห็นว่า pairs หรือคู่นั้นมีคุณลักษณ์เท่าเทียมกันเสมอกัน


กรัมชี่ มักใช้คำนี้เพื่ออธิบายความสัมพันธ์เชื่อมกันตลอดเวลาระหว่างภาครัฐและประชาสังคม ตัวอย่างคำที่ใช้เป็น pairs หรือคู่ เช่น force-consent (การบังคับ-ยินยอมพร้อมใจ) authority-hegemony (อำนาจ-การครองอำนาจนำ) political society-civil society (สังคมการเมือง-การเมืองประชาสังคม) และอื่นๆ

กรัมชี่ เห็นว่าการปฏิวัติทางสังคมจะสำเร็จได้ต้องอาศัยแนวร่วมทางอุดมการณ์ที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ นี้แหละ การเลือกใช้คำในงานเขียนของ กรัมชี่มีความน่าสนใจและเผยให้เห็นด้วยว่า แทบไม่มีมาร์กซิสคนใดก่อนหน้ากรัมชี่ ให้ความสนใจศึกษามิติที่เชื่อมโยงกันอยู่ระหว่างการเมืองและวัฒนธรรมเลย


ประวัติศาสตร์ขนาน ในงาน กรัมชี่ศึกษา (Gramsci study) กับขบวนการนักศึกษาในอดีตมันก็ Parallel // ขนาน และเชื่อมโยงอยู่กับปัจจุบัน มีบันทึกว่าผลงาน กรัมชี่ศึกษา เข้ามาสู่สังคมไทยครั้งแรกในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปี 2516 ด้วยบทความเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของ Gramsci เขียนโดย สุรพงษ์ ชัยนาม


จากนั้นขนวนการเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา ที่มุ่งมั่นเดินทางลงพื้นที่ให้แสงสว่างกับคนชนบท และสนับสนุนให้เกิดการเรียกร้องกดดันให้รัฐแก้ความไม่ยุติธรรมทางกฎหมายและปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาอย่างยาวนานหลังการรัฐประหาร (ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2516-2519) มีการรวมตัวกันประท้วงและเดินขบวนของกลุ่มคนชนบทและนักศึกษา


จนมาถึงฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การล้อมปราบ และเข่นฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือข่าวแพร่สะพัดหรือสมัยนี้อาจเรียกว่า IO ว่า “มีคนใจร้ายจะเผาวัดบวรฯ” ขณะเดียวกับกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวาที่จัดตั้งแล้วเสร็จ เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนักเรียนช่าง และอื่นๆ รวมกันบุกเข้าต่อต้านขบวนการนักศึกษาจนเกิดการเผชิญหน้าทำร้ายนักศึกษาจนถึงขั้นเสียชีวิต และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหลังจากที่นักศึกษาเข้าป่าการศึกษาพัฒนาทฤษฏีของ กรัมชี่ ได้ซบเซาตามไปด้วย


เหล่าปัญญาชนหัวก้าวหน้าไม่ได้ผลิตงานวิชาการที่ใช้แนวคิด/กรอบการศึกษาของ กรัมชี่ อย่างจริงจัง โดยส่วนมากจะให้สนใจมาร์กซิสในทฤษฎีของลัทธิเหมาและสตาลินมากกว่า เมื่อสมัยก่อนสัก 30 ปีที่แล้วการต้องอ่านมาร์กซิสทฤษฎีของลัทธิเหมาและสตาลิน ดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่ออยู่พอสมควรหรือบ้างอาจรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว


การที่กรัมชี่เชื่อมโยงการเมืองและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน อธิบายให้เรามีความเข้าใจการเมืองได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมันถูกผลิตขึ้นซ้ำๆในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

ในช่วง สองทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีผลงานวิชาการไทยที่ใช้แนวคิด/กรอบการศึกษาของ กรัมชี่ มาประยุกต์ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม มากมายหลายชิ้นและน่าสนใจ เช่น ปีพ.ศ. 2541 ธเนศ วงศ์ยานนาวา เสนอบทความวิชาการเกี่ยวกับ กรัมชี่ โดยการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์นิยมของกรัมชี่ในแบบที่มนุษย์อย่างเราๆทุกคนเป็นผู้ที่สามารถสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ด้วยตนเองได้

ในปีพ.ศ. 2547 ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เสนอผลงานวิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ” เพื่ออธิบายการพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำของชนชั้นนำไทย


ในปีพ.ศ. 2548 ประจักษ์ ก้องกีรติ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา โดยใช้แนวคิดการพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ เป็นหลักในการอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น

Art/Life: One-year performance, 1983-1984

ส่วน Parallel // ขนาน ในผลงานทางทัศน์ศิลป์ที่น่าสนใจและหยิบยกขึ้นมาชิ้นหนึ่งคือผลงานที่ชื่อ Art/Life: One year performance, 1983-1984 ศิลปินผู้สร้างผลงานคือ Tehching Hsieh (b. 1950-) ศิลปินแสดงสดชาวไต้หวันที่เข้าเมืองและพำนักสร้างผลงานที่นิวยอร์กโดยผิดกฏหมาย ทำงานศิลปะความร่วมมือกับศิลปินหญิงคือ Linda Montano โดยวิธีการเปิดรับสมัคร


ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดในผลงานชิ้นนี้ เราลองมาทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมของ Tehching Hsieh ในฐานะปรมจารย์ (master) ตัวจริงตามความหมายที่ Marina Abramovic ศิลปินแสดงสดผู้มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะแสดงสดให้การยอมรับโดยดุษฏี Hsieh คือศิลปินผู้ที่กำหนดให้เส้นขนานระหว่างชีวิตและศิลปะมาบรรจบกัน ด้วยวิถีแนวทางและชีวิตประจำวันอย่างเราๆท่านๆ


Hsieh สร้างสรรค์ชุดผลงานอย่างต่อเนื่องปีต่อปีตั้งแต่งค.ศ. 1978-1999 ติดต่อกันเป็นการแสดงที่เล่นกับระยะเวลาอันยาวนาน (durational performance) และศิลปะที่แลกมาด้วยความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด (endurance art) ผลงานศิลปะแสดงสดของ Hsieh นั้นประกอบสร้างขึ้นจากองค์ประกอบอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความมีวินัย การหมกมุ่น-ย้ำคิดย้ำทำ ดันทุรัง และความขบถทั้งในโลกศิลปะ โลกที่มีมนุษย์ผู้อื่นอาศัยอยู่และโลกจริงที่มีกฎหมายตีกรอบหวงห้ามเอาไว้ ผลงานการแสดงสดของเขาใช้ระยะเวลาในการแสดง 365 วันเต็มตลอดวันตลอดคืนแบบไม่มีการหยุดพัก และเขาได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องเพียง 6 ชุดเท่านั้น ได้แก่

  • 1. One year performance 1978-79 (Cage Piece) การกักขัง 365 วัน
  • 2. One year performance 1980-81 (Time Clock Piece) การตอกบัตร 24 ชั่วโมง 365 วัน
  • 3. One year performance 1981-82 (Out Door Piece) การจรจัด 365 วัน
  • 4. Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece) การตรึงและขนานกันไว้ 365 วัน
  • 5. One year performance 1985-86 (No Art Piece) การไม่ทำศิลป์ ไม่คุยศิลป์ ไม่ดูศิลป์ ไม่อ่านศิลป์ ไม่ไปงานแสดงศิลป์ 365 วัน
  • 6. Tehching Hsieh 1986-1999 ผลงานระยะยาว การกระทำศิลปะแต่ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นเวลา 13 ปี

Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece)

ในผลงานชุดเชือก(Rope Piece) Tehching Hsieh และ Linda Montano ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจนเมื่อทั้งสองลงนามในเอกสารความเห็นชอบโครงการร่วมกัน จากนั้นชายหญิงคู่หนึ่งได้อาศัยชีวิตประจำวันและพื้นที่เกาะแมนแฮตตัน (Manhattan) มหานครนิวยอร์กเป็นแบบจำลองเชิงปฏิบัติการใช้ชีวิตร่วมกัน 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วัน


โดยมีเชือกความยาว 2.40 เมตร ผูกเอวทั้งสองไว้พร้อมข้อห้ามถูกเนื้อต้องตัว แน่นอนว่าผลงานชิ้นนี้ลุล่วงไปได้แม้ต้องพบอุปสรรคจากความแตกต่างระหว่างปัจเจก Hsieh ยอมรับว่าในฐานะผลงานศิลปะ Rope Piece ประสบความสำเร็จและได้รับความชื่นชมยินดีอย่างมาก แต่มันกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในฐานะมนุษย์และความร่วมมือซึ่งมีความแตกต่างอย่างสุดขั้ว


Parallel // ขนาน ในผลงาน Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece) เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ผลงานชิ้นนี้สมาสพื้นที่ทางศิลปะและพื้นที่ชีวิตของเส้นขนานให้มาบรรจบกันที่ Vanishing Point


แม้ในความรู้สึกของเขาทั้งสองจะบอบช้ำเพียงใด หากเรามองในเชิงเทคนิคการบำเพ็ญเพียรหรือตบะอย่างเข้มข้นและวินัยแบบสุดติ่งบนข้อตกลงทางศิลปะร่วมกัน คือเครื่องมือและกระบวนการในการผลิตและสร้างสรรค์ผลงาน และชีวิตประจำวันก็คือวัสดุที่ศิลปินนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นเอง


การขุดคุ้ยและสืบค้นประวัติศาสตร์ของความรู้เช่นนี้ได้เผยให้เห็นภาพของ Parallel // ขนาน ในหลากหลายมิติไม่มากก็น้อย จะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางปัญญาของมนุษย์หลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทำให้เส้นหรือแม้แต่สิ่งที่ Parallel // ขนาน กันมาบรรจบกันได้

เอกสารอ้างอิง

(1) A Physicist Explains Why Parallel Universes May Exist https://www.npr.org/2011/01/24/132932268/a-physicist-explains-why-parallel-universes-may-exist
 (2) การศึกษาเชิงวิเคราะห์ความคิดเรื่อง จักรวาลวิทยาในพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก, เพ็ญแข กิตติศักดิ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บัณฑิตวิทยาลัย 2529
 http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21509
 (3) ทำไมต้องฟิสิกส์ทฤษฏี สิขรินทร์ อยู่คง (Sikarin Yoo-Kong) 24 March 2016
 https://medium.com/@sikarinyookong/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8F%E0%B8%B5-why-theoretical-physics-1707196a12db
 (4)อันโตนิโอ กรัมชี่ : มาร์กซิสเชิงวัฒนธรรมกับการศึกษาโครงสร้างส่วนบน
 บทความวิชาการTagged การศึกษาโครงสร้างส่วนบน, มาร์กซิสเชิงวัฒนธรรม ผู้เขียน วรวิทย์ ไชยทอง, อันโตนิโอ กรัมชี่ 28 พฤศจิกายน 2013
 https://armworawit.wordpress.com/2013/11/28/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81/
 (5)กรัมชีกับการเมืองไทย: อำนาจเก่ากำลังจะตาย อำนาจใหม่ยังไม่สถาปนา
 ประชาไท / ข่าว
 https://prachatai.com/journal/2014/06/54315
 (6)บทบาทและความสำคัญของคณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์
 2 ธันวาคม 2554 ผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
 https://mgronline.com/science/detail/9540000149053
 (7)รามานุจัน’ อัจฉริยะเบื้องหลัง ‘อินฟินิตี้ มติชนรายวัน ผู้เขียน วจนา วรรลยางกูร, 17 พฤษภาคม 2559
 https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_139390
 (8)NYC-Based Artist Tehching Hsieh: When Life Becomes A Performance
 https://theculturetrip.com/north-america/usa/new-york/new-york-city/articles/tehching-hsieh-when-life-becomes-a-performance/
 (9)Tehching Hsieh
 https://www.tehchinghsieh.com/artlife-oneyearperformance1983-1984
 (10)ศิลปะบำเพ็ญทุกข์ขั้นสุดของ Tehching Hsieh ศิลปินไต้หวัน ผู้เป็นมาสเตอร์ของ Abramović
 4 January 2018 Wassachol Sirichanthanun, LIFEMATTERS
 https://thematter.co/life/tehching-hsieh-people-you-should-know/42892