OOO ความจริงในวัตถุ: กรณีศึกษา Asian Art Biennial 2019 [exhibition review] (part 3)

บทความโดย ผิว มีมาลัย
ภาอรุณ ชูประเสริฐ x สุพิชญา ขุนชำนิ : บรรณาธิการ
อวิกา สมัครสมาน ออกแบบปก

OOO: III

ผลงาน Friction Current: Magic Mountain Project 2019 จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหมาย
เลข 102 ในห้องขนาดประมาณ 8 x 10 เมตร ตู้กระจกควบคุมความเย็นขนาดใหญ่ 120 x 120 สูง 200 ซม. ตั้งอยู่ใกล้กึ่งกลางห้องภายในบรรจุอ่างน้ำพุหินหมุนฮวงจุ้ยอย่างเป็นมงคล

ความตระหง่านโดดเด่น และประกายมันวาวบนผิวหยกที่สะท้อนแสงไฟจากเพดานตู้ด้านบน ขับเน้นให้ลูกบอลหยกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว หมุนลอยวนเป็นงูกินหาง ด้วยแรงดันและแรงเสียดทานของน้ำปัสสาวะผ่านเครื่องปั๊มขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ภายในอ่างน้ำพุหินอ่อนสีขาว

Friction Current: Magic Mountain Project 2019

อุณหภูมิภายในตู้กระจกจะถูกควบคุมไว้ที่ 8-15 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรักษาพยาธิสภาพของปัสสาวะ และค่าครึ่งชีวิตของเมธแอมเฟตามีนให้สามารถคงสภาพอยู่ได้ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ภายในอ่างน้ำหินอ่อน ศิลปินติดตั้ง immersion sturgeon waterproof contact microphone ต่อเชื่อมไปที่ USB audio interface และ controller เพื่อให้เสียงกระจายไปยังลำโพงซึ่งถูกติดตั้งไว้บนผนังรอบห้องจำนวน 6 ดอก

ผู้ชมภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการฯ จะได้ยินเสียงครางสั่นร้องของเครื่องกลไฟฟ้าที่กำลังทำงานอยู่ใต้ผิวน้ำปัสสาวะในอ่างหินอ่อนเป็นเสียงหึ่งๆระงมกำธรไปทั่วห้อง โอกาสและความเป็นไปได้ของเสียงที่เกิดจากน้ำปัสสาวะ

ซึ่งผุดล้นออกจากขอบ หยดและตกลงกระทบผิวน้ำปัสสาวะในอ่างบริเวณที่ microphone ถูกติดตั้งจะส่งเสียงที่แหลมใสหรือทุ้มต่ำเป็นไปตามจังหวะความเป็นไปได้ที่ควบคุมไม่ได้

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Refrigerated cabinet 120 x 120 x 200 cm., Jadeite Ø 12.7 cm., Marble sphere fountain Ø 60 cm. x 50 cm., Immersion sturgeon waterproof contact microphone, USB audio interface, controller, 6 sound speakers, Water pump,)

ศิลปินอาศัย controller เพื่อช่วยในการควบคุมกำหนดเวลา และจังหวะให้เสียงค่อยๆเริ่มจากเบาไปหาหนักและค่อยๆกลับไปสู่เบา ระยะเวลา 3 นาที โปรแกรมจะรีเซทตัวเองอีกครั้งทุกๆ 3 นาทีพัก 3 นาทีต่อเนื่องกันไปเป็นลูป คล้ายแอมเบียนต์ของเสียงในโรงงานที่ใดที่หนึ่ง

ลูกบอลหยกแห่งโชคลาภ และผลประโยชน์นั้นคือหินที่สวรรค์ประทานตามความเชื่อของชาวจีน กำลังหมุนลอยอยู่บนฐานน้ำพุตลอดทั้งวันและทั้งคืน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตลอดระยะการแสดงนิทรรศการครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่สารประกอบ C10H15N ภายในปัสสาวะจะแทรกซึมผ่านเข้าไปสู่อนุภาคของสารประกอบ NaAISi2O6 ภายในเนื้อหยก

แม้เส้นด้ายชนิดพิเศษตามตำนานเล่าขานในภูเขามหัศจรรย์แห่ง Zomia จะประกอบด้วยซิลิกาที่มีความแข็งคล้ายผลึกแก้วก็ตาม แต่ภายในตัวมันประกอบด้วยออกซิเจนถึง 6 หน่วย

คำถามเชิงอุปมาต่อกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุที่ศิลปินทำการทดลองนำสารประกอบ C10H15N เสียดสีแทรกซึม และฝังตัวอยู่ภายในเนื้อหยกเพื่อส่งสัญญาณให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ผนังสี่ด้านของห้องนิทรรศการถูกติดตั้งผลงาน archive และ documents ในรูปแบบต่างๆเช่น ภาพเหมือน silhouette บุคคลสำคัญที่เชื่อมโยงกันระหว่างธรณีวิทยาและชีววิทยาในงานวิจัยฯ ถูกวาดลงบนผนังขนาดประมาณ 3 x 7 เมตร

บุคคลเหล่านั้นประกอบไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจข้ามชาติ นักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ผู้นำกองทัพ นักเคมียุทธภัณฑ์ ผู้ค้ายาเสพติด ฯลฯ

เกาะเกี่ยวกันเป็นรหัสคล้ายตัวอักษรปรากฏขึ้นอย่างลับๆ ล่อๆ ศิลปินอำพรางการมองเห็นของผู้ชมให้ลางเลือนไม่แน่ชัด จนยากจะบอกได้ว่าใครเป็นใครหากผู้ชมไม่รู้จักบุคคลนั้นมาก่อน

ด้วยการทาสีเดิมของผนังทับลงไปบนภาพวาดบางๆหลายๆชั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากผู้ชมเคยเห็นหรือรู้จักบุคคลนั้นๆ เขาจะสามารถบอกได้ว่าภาพ silhouette บุคคลนั้นคือใคร

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Mural paint)

Zomia พื้นที่ซึ่งอำนาจรัฐไต่ขึ้นไปไม่ถึงในมุมมองของ James C. Scott แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐชาติที่มีพรมแดนติดกับ Zomia จะปฏิเสธความเป็นพื้นที่ไร้รัฐและผลประโยชน์ของ Zomia อย่างหลับหูหลับตา

ในทางกลับกันมีเอกสารหลายฉบับที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำของรัฐรอบๆ Zomia แม้แต่อเมริกาอังกฤษหรือพรรค KMT ของไต้หวันได้กลายเป็นตัวละครที่มีภารกิจและปฏิบัติการพิเศษที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำของไทยและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ Zomia อย่างมีนัยสำคัญ

ใกล้กันที่มุมห้องมีจอมอนิเตอร์ขนาด 49 นิ้ว ติดตั้งอยู่บนผนังเป็นผลงานภาพยนตร์เงียบขาวดำความยาวประมาณ 20 นาที กำลังฉายกระบวนการขั้นตอนตัดและโกนเพื่อทำให้หินขนาดใหญ่เป็นทรงกลม

ภาพเครื่องจักรและใบเลื่อยขนาดใหญ่ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กำลังเฉือนเข้าไปในเนื้อหินอย่างเชื่องช้าโดยไร้ซึ่งเสียงเครื่องจักรหรือเสียงการเสียดสีใดๆทั้งสิ้นจากกิจกรรมภายในภาพเคลื่อนไหวนั้น

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Single-channel, Video full HD, Black and white, Silent, 20 min. 09 sec., Loop)

ภาพยนตร์หรืออาจเรียกว่าภาพเคลื่อนไหวน่าจะตรงกว่า เพราะมันไม่ได้เล่าเรื่องแต่อย่างใดเป็นเพียงการลำดับขั้นตอนให้เห็นถึงรายละเอียดระยะใกล้ๆ ขณะใบเลื่อยหมุนเสียดเข้าไปในเนื้อหิน

ตัดสลับด้วย 3D animation แทนสายตาของผู้ชมให้เคลื่อนเข้าไปในโมเลกุลของหินหยก ผ่านความรู้สึกของแรงเสียดทานอันมหาศาลระหว่างเครื่องจักรกับหิน ระหว่างเทคโนโลยีและธรรมชาติ

“ธนบัตรรุ่นแรกที่มิได้ใช้ภาพประธานเหมาฯ และอาคารมหาศาลาประชาคมของพรรคคอมมิวนิสต์บนหน้าและหลังของธนบัตร”

ผนังอีกด้านหนึ่งศิลปินได้แสดงชุดเอกสารรับรองขนาด A4 ของผลตรวจทางธรณีวิทยาและชีววิทยาจากหน่วยงานราชการฯ และภาพประกอบลักษณะโมเลกุลของสารประกอบ C10H15N และ NaAISi2O6 ขนาด A3

ใกล้กันคือกองผงสารประกอบ NaAISi2O6 ปริมาณ 10g พร้อมธนบัตรราคา 100 หยวนที่ผลิตในปี 1990 เป็นธนบัตรรุ่นแรกๆที่มิได้ใช้ภาพประธานเหมา และอาคารมหาศาลาประชาคมของพรรคคอมมิวนิสต์บนหน้าและหลังของธนบัตร

สารประกอบ NaAISi2O6 และธนบัตรราคา 100 หยวน ผลตรวจทางธรณีวิทยาและชีววิทยา ภาพประกอบลักษณะโมเลกุลของสารประกอบ C10H15N และ NaAISi2O6

ด้วยแนวทางการออกแบบด้านหน้าและหลังธนบัตร ปรากฏภาพใบหน้าคนชาติพันธ์ุและภูเขาสูงชันอันสลับซับซ้อนใน Zomia ชุดนี้มีนัยตามนโยบายยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

รัฐบาลฯได้เปิดตลาดการค้าการลงทุนในเขตปกครองตนเองทางตอนใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์จีนเดียว
ซึ่งร้อยละ 90% ของประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุจำนวนมาก

มันเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายอิทธิผลทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ Zomia อย่างเป็นระบบ ศิลปินได้ประทับตราอักษรจีนด้วยหมึกดำด้านหลังธนบัตรเพื่อตอกย้ำจักรวาลวิทยา กับความเชื่อใหม่ในเงินตราปกรณัม ความว่า “ภูเขาคือแผ่นดินที่ยับย่น และสอยเอาไว้ด้วยด้ายชนิดพิเศษ”


OOO: IV

บทสรุปท้ายเรื่องอาจไม่มีข้อสรุปใดๆให้บันทึก หรืออาจเป็นการใช้หน้ากระดาษดิจิตอลเพื่อยั่วยุสุนทรียะ หรือช่วยเปิดพื้นที่ทางความคิดของบรรดาญาติคีย์บอร์ดให้เกิดการโต้แย้งใหม่ๆ ในตัวทฤษฏี Object Oriented Ontology (OOO) การตีความและถกเถียงในตัวบทถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นของนักการศึกษา

เช่นทักษะและความสามารถของศิลปินในการจัดการกับความล้นเกินทางข้อมูล ในบิ๊กเดต้าเบสก็เป็นประเด็นที่น่าคิดเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพที่ได้ในผลงานวิจัยเชิงทัศนศิลป์ของศิลปิน Hsu Chia-Wei และ Ho Tzu-Nyen ภัณฑารักษ์ใน 2019 Asian Biennial: The Strangers from Beyond the Mountain and the Sea ครั้งนี้

ทฤษฏี OOO อาจเป็นส่วนหนึ่งของการกลายไปสู่ (becoming) หรือเป็นเพียงพัฒนาการของชุดความรู้และทฤษฏีที่กำลังสร้างความยุ่งยากกวนใจต่อความรู้แจ้งทางปัญญา ด้วยเป้าหมายในการสืบค้นตามหาความจริงในวัตถุและอื่นๆ

การย้อนกลับไปสู่แนวคิดบรรพกาลตามความเชื่อแห่งพ่อมดหมอผี การเล่นแร่แปรธาตุหรือความสามารถในการสื่อสารต่างมิติไปจากโลกเชิงประจักษ์ยังเป็นปัญหาเชิงอภิปรัชญาในตัวทฤษฏีที่รอให้ไขความ

นอกจากผลงานของศิลปินคู่ jiandyin ซึ่งใช้วิธีวิทยาชุดดังกล่าวในนิทรรศการ 2019 Asian Biennial: The Strangers from Beyond the Mountain and the Sea

ยังมีศิลปินไทยอีกท่านคือ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ร่วมกับ Alex Gvojic เข้าร่วมแสดงด้วยชุดผลงาน No History in a room with Funny Name 5 ในห้องนิทรรศการที่อยู่ติดกัน

ด้วยผลงานวีดีโอจัดวาง 3 จอแขวนลอยใกล้กันบนผนัง และส่วนประกอบอื่นๆจำนวนมาก เช่น แสงLED, Found object ฯลฯ แสดงออกถึงลักษณะชีวิตภายในของสิ่ง

ผ่านตัวละครบอยไชลด์ซึ่งมีลักษณะ post human ตามทัศนะของ OOO กรกฤตกล่าวว่าเขาเริ่มศึกษาปรัชญานี้ในช่วงปี 2015-16 เขาให้สัมภาษณ์ผู้เขียนเช่นนั้น


OOO: XXX

OOO ได้อิทธิพลแนวคิดจากสำนัก Heidegger ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในแวดวงวิชาการปีค.ศ. 1999 โดย Graham Harman(1968-) แนวคิดและพลวัตรของ OOO ส่งแรงกระเพื่อมยังแวดวงศิลปะ อักษรศาสตร์ การเมืองและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

“ช่วยทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตั้งแต่พระอภัยมณี บั้งไฟพญานาค และวีดีโอเกมส์ ไปยันพระราชบัญญัติ และหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ”

ในฐานะสัตตะเครื่องมือ (Tool-Being) ที่ช่วยทำความเข้าใจสิ่งต่างๆตั้งแต่พระอภัยมณี บั้งไฟพญานาค และวีดีโอเกมส์ ไปยันพระราชบัญญัติ และหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ มันสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ

นี่อาจไม่ใช่ความท้าทายสำหรับวงการศิลปะกระแสหลักในประเทศไทย ที่นิยมสกุลช่างแนวจิตหมายเลขต่างๆ

เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดภัณฑารักษ์ในนิทรรศการศิลปเบียนนาเล่ภายในประเทศ
กับนิทรรศการศิลปเบียนนาเล่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จะสังเกตเห็นว่าสนามทางทัศนศิลป์ในนิทรรศการศิลปะเบียนนาเล่ของภูมิภาคฯ ต่างแข่งขันกันด้วยบทภัณฑารักษ์ที่ท้าทาย และการตั้งคำถามอันแหลมคมต่อปัญหาสังคมร่วมสมัยในประเทศนั้นๆ
หรือของภูมิภาคฯก็ตามที

ภาพสะท้อนทางวัฒธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นได้ด้วยรสนิยมของรัฐและการทำงานเชิงรุก โดยให้ภัณฑารักษ์
ออกแบบจัดวางศิลปะไว้ให้มีประโยชน์ใช้สอย และเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาทางสังคม

ด้วยการตั้งคำถามการวิพากษ์วิจารณ์และการทำงานความร่วมมือ เพื่อนำเสนอและถอดชุดความรู้จากสนามทางทัศนศิลป์ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ

“ทำความเข้าใจโครงสร้างปัญหาของสังคมไทยตามทัศนะและข้อบงชี้ในงานวิจัยของ Charles F. Keyes (1937-)
ขบถผีบุญแห่งสำนักคอร์เนล …. จะได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าหรือไม่ ?”

มันคือหน้าที่หลักของภัณฑารักษ์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคมในวงกว้าง มิใช้การหลีกลี้
ไปสู่ความสุขอันน่าสะพรั่งสะพรึงกลัว คล้ายกับการหลอกตนเองของชนชั้นนำและนักวิชาการเหรียญทอง ในความพยายามเขียนภาพชนบทให้เป็นชาติของยุคสงครามเย็น

หรือหากภัณฑารักษ์ จะศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างปัญหาของสังคมไทยตามทัศนะและข้อบงชี้ในงานวิจัยของCharles F. Keyes (1937-) ขบถผีบุญแห่งสำนักคอร์เนล (พ่อใหญ่ของนักมานุษยวิทยาไทย) จะได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าหรือไม่?

“ผมว่าเบียนนาโล่-เบียนนาเล่ในประเทศไทยอะไรเนี่ย เป็นเพียงกิจกรรมของพวกอีแล้ง-อีฤทธิ์(elite) มีไว้เพื่อแยกตนเองออกจากชนชั้นอื่นๆในสังคมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น…..ก็เท่านั้น”

พี่วินหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เย้ยหยันด้วยสายตาพรางหยิบหมวกกันน็อคยื่นส่งให้ข้าพเจ้าแล้วขึ้นสตาร์ทแมงกะไซด์คู่ชีพ (บรื้นๆ) ฮ่วย…..เบียนน่าโลดดดดดด


อ้างอิงผลงาน

Friction Current: Magic Mountain Project 2019
Mix media installation with Single-channel, Video full HD, Black and white, Silent, 20 min. 09 sec., Loop,
wooden shelf-Black acrylic 29.7 x 42 cm., 5g. NaAlSi2O6 Powder, C10H15N Human urine, Refrigerated cabinet 
120 x 120 x 200 cm., Jadeite Ø 12.7 cm., Marble sphere fountain Ø 60 cm. x 50 cm., Immersion sturgeon waterproof
contact microphone, USB audio interface, controller, 6 sound speakers, Water pump, Paint 29.7 x 42 cm.,
Documentation 21 x 29.7 cm. x 2, Stamp on 100 Yuan-1990 China Banknote, Mural paint.
 Artistic research project by jiandyin                                                                 
 Commissioned by 2019 Asian Art Biennial                                                                        
 Grip and Lighting Equipment Fund: VS Film Fund, Thailand
 Cinematographer: Liam Morgan 
 3d motion graphic: Sawitree Premkamon
 Sound engineer: Chang Huei Ming, Huang Wei
 Artist assistants: Awika Samukrsaman, Atsushi Boonmeewiset
 Geology advice: Thampaphon Sunpa-udom
 Friction Current: Magic Mountain Project 2019
Tags: No tags

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *