#23การเมืองในรามายณะ/รามายณะใน documenta fifteen : ถอดนัยอำนาจชนชั้นปกครองไทย ตอนที่ 1/2

เรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย

บทความฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะเสนอแนวคิดเชิงวิชาการ ซึ่งเผยความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมที่ตีเกลียวประหนึ่งเชือกอันทรงอิทธิพล ที่ขึงตรึงฐานรากความคิดความเชื่อและความรู้สึกของความเป็นรัฐชาติที่สถาปนาขึ้น โดยกลุ่มชนชั้นปกครองครั้งต้นรัตนโกสินทร์ และดำรงสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน นั่นเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมรัฐชาติสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ จึงถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ดังนั้นหากเราต้องการถอดรหัสหรือนัยอำนาจชนชั้นปกครองไทย จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดวิธีวิทยาหลายแนวคิด อาทิ การวิเคราะห์เชิงอุปลักษณ์ (Metaphor Analysis) ตามแนวคิดของ Susan Koch and Stanley Deetz แนวคิดการตีความวรรณกรรมของ Lajos N. Egri แนวคิดจิตไร้สำนึกและการเมืองของความปรารถนา (a politics of desire) ของชีลส์ เดอเลิซ กับเฟลิกส์ กัตตารี (Gilles Deleuze & Félix Guattari) แนวคิควิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของภาษาในเชิงวิพากษ์ของ Julia Kristeva หรือแม้แต่แนวคิดการใช้อำนาจผ่านภาษาของ Norman Fairclough ร่วมกันวิเคราะห์ค้นหา เพื่อทำความเข้าใจแรงผลักที่ก่อให้เกิดการผลิตซ้ำ(centripetalpressure) และการสร้างขึ้นใหม่เฉพาะกิจ(centrifugal pressure) (จันทิมา อังคพณิชกิจ, 2554: 4) ของตัวบทรามายณะหรือรามเกียรติ์ฉบับภาษาไทย

สืบเนื่องจากงานแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ documenta fifteen ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 Jun- 25 September 2022  เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ณ เมือง Kassel ประเทศเยอรมนี กลุ่มศิลปิน Baan Noorg Collaborative arts and Culture จากราชบุรี ประเทศไทย ได้สร้างสรรค์ผลงานในชื่อโครงการ: Churning Milk: the Rituals of Things (2022) A collaborative and participatory art project โดยศึกษาทำความเข้าใจและตีความความสัมพันธ์การเชื่อมโยงของสื่อหลากหลายชนิด เช่น การนำวรรณกรรม เรื่องเล่า-นิทานพื้นบ้าน ไปสร้างเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย การแสดงสด ภาพยนตร์ ฯลฯ เพื่อวิเคราะห์เรื่องราวชนิดเดียวกันหรือต่างกันเมื่อถูกผลิตสร้างภายในรูปแบบของสื่อที่ต่างกัน จะส่งผลให้ความหมายของสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อตัวละครในรามเกียรติ์ถูกผสานเข้ากับตัวบทอื่นในฐานะเป็นผลงานศิลปะจัดวางประเภทสื่อผสม (Multimedia installation) ขนาดพื้นที่ 14.00 x 12.00 x 1.20 m. ประกอบด้วย (Include): 85″ LCD monitors, VDO 3 channel full HD B/W and color, 13 min, sound, speakers, mixer, fluorescent light tubes, balasts, color, prepared motor, steel, inflatable air-object, spray paint, skateboard mini ramp, Nang Yai*, live piece performances*, skateboard donation drive, series of workshops and events.

Churning Milk: the Rituals of Things,  Baan Noorg, , installation view, Documenta Halle, 2022.
Photo: Nicolas Wefers.

กวนเกษียรสมุทร (Churning the ocean of the Milk) คือตัวบทที่กลุ่มศิลปิน Baan Noorg Collaborative arts and Culture นำเสนอ มันคือตอนที่เทพและอสุรร่วมมือกันในการที่จะได้มาซึ่งน้ำอมฤตเพื่อความเป็นอมตะเมื่อได้ดื่มกิน และเป็นตอนที่เราพอจะมองเห็นความร่วมมือกันในแนวราบ มากกว่าการสู้รบโดยทั่วไปที่ตัวบทมักวางลำดับชั้นของเทพ และอสูรไว้ในแกนแนวดิ่งหรือลำดับชั้นของจักรวาลซึ่งเทพอยู่เบื้องบนส่วนอสูรนั้นอยู่เบื้องล่างในนรก แต่แล้วฝ่ายเทพซึ่งหมายถึงพระนารายณ์ ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมฉวยน้ำอมฤตไปเสียพ้นจากฝั่งอสูรซึ่งหมายถึงทศกัณฐ์ ความฉ้อฉลของฝ่ายเทพเป็นสิ่งที่ตัวบทมักพยายามสร้างให้เกิดความชอบธรรม และแสดงให้เห็นถึงอำนาจนำทั้งด้านการเมืองและการปกครอง

เมื่อเราวิเคราะห์หรือตีความต่อตัวบทรามายณะ หรือรามเกียรติ์ฉบับภาษาไทยในเชิงวิพากษ์ด้วยการถอดรหัส จะพบว่ากระบวนการผลิตซ้ำอำนาจเพื่อแสดงนัยสำคัญทางการเมืองการปกครองนั้น เป็นสิ่งที่รัฐชาติสมัยใหม่พยายามสร้างให้เกิดการผลิตความปรารถนาขึ้น (desiring-production) เพื่อเก็บกดปิดกั้นความปรารถนาของคนในสังคม ส่งผลให้ผู้มีความปรารถนาที่ผิดแผกแตกต่างจากความปรารถนาที่สังคมกำหนด กลายเป็นคนไม่ดีหรือเป็นผู้ชังชาติ การตั้งคำถามที่ว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงผลักดันและแรงจุงใจ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังคงยอมรับความเก็บกดปิดกั้นความปรารถนา โดยเข้าใจว่าสิ่งนี้คือความปรารถนาร่วม หรือกระบวนการในการสร้าง “ความทรงจำร่วม” (collective memory) ของคนในชาติ เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติหรือเกิดขึ้นเองภายใต้จิตไร้สำนึกของเรา คือประเด็นข้อถกเถียงที่ผู้เขียนพยายามค้นหาคำตอบ

คำสำคัญ: การเมือง, รามเกียรติ์, เทวราช, ความเป็นไทย

รามเกียรติ์: บทบาทที่หยิบยืมของชนชั้นนำไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่ารามายณะ เป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย เชื่อกันว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป ผู้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรกคือฤๅษีวาลมีกิ เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ภาษาสันสกฤตจำนวน 24,000 โศลก

 มหากาพย์รามายณะเป็นวรรณคดีที่มีการดัดแปลง เล่าใหม่ และแพร่หลายไปในหลายภูมิภาคของเอเชียและเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยเนื้อเรื่องของแต่ละแห่งได้มีการเปลี่ยนแปรไปบ้างตามผู้ถ่ายทอด ทำให้แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาคและวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้ที่รับการถ่ายทอดวรรณคดีเรื่องนี้ไป

รามายณะ
ที่มาภาพ: https://no.wikipedia.org/wiki/Ramayana
 

ราวปี ค.ศ.1922 เปริยาร์ อีวี รามสวามี (Periyar E.V. Ramaswami) ชาวอินเดียใต้ ตีความรามยณะว่า พระรามคือชาวเหนือ วัฒนธรรมเหนือหรือวัฒนธรรมสันสกฤต ที่เข้ามารุกรานภาคใต้ของอินเดีย โดยเสริมว่ารามายณะน่าจะมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง และเป็นวรรณกรรมที่พยายามลดทอนคุณค่าชาวทมิฬและวัฒนธรรมทมิฬ ดังนั้นรามายณะก็คือภาพสะท้อนความขัดแย้งของคนสองเผ่าสองวัฒนธรรมแพร่กระจายไปทั่วอินเดีย และกลายเป็นที่มาของความคิดเรื่องปมขัดแย้งระหว่างอารยันและฑราวิทในที่สุด

ถึงอย่างไรก็ดีมีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แห่ง University of West Florida อย่าง Emeritus Professor Dr. Madan Lal Goel เสนอแนวคิดใหม่ว่า การรุกรานของอารยันไม่เคยเกิดขึ้น เขาระบุว่าชาวอารยันและชนพื้นเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยมีการผสานชาติพันธ์และวัฒนธรรมกันมาโดยตลอด จากการขุดพบทางโบราณคดีที่แหล่งอารยะธรรมโบราณ หารัปปา และ โมหันโชทะโร ไม่พบพยานหลักฐานใดๆ ที่บงชี้การเข้ารุกรานของอารยัน และมีนักวิชาการหลายท่านเสนอว่า อารยันไม่ใช่ชาติพันธ์แต่เป็นวัฒนธรรม 

รามเกียรติ์
ที่มาภาพ: https://www.thaiticketmajor.com/performance/khon-hanuman-kid-2020.html

สำหรับประเทศไทยนามมหากาพย์รามายณะว่า “รามเกียรติ์” ซึ่งเป็นตัวบทที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบความคิดความเชื่อ ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง ศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา แม้แต่พระนามของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ต้องมีคำว่า “ราม หรือ “รามาธิบดี” ปรากฏในพระนามของพระมหากษัตริย์ในยุคกรุงเทพฯ ซึ่งก็มาจากพระรามผู้เป็นองค์อวตารของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ เป็นเทพอวตารมาเพื่อปราบอสูร และช่วยเหลือมนุษย์ตามแนวคิดที่สืบทอดผ่านการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไวษณนิกาย

หากพิจารณารามเกียรติ์ในเชิงวรรณกรรม พบว่ารามเกียรติ์ที่มีสํานวนเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ คือรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เสถียรโกเศศ ได้กล่าวว่าพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับดังกล่าวมีความไพเราะเป็นอย่างมาก จึงกลายเป็นวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ผูกผันกับวิถีชีวิตและความเป็นไทยมายาวนาน และรามเกียรติ์ยังใช้เพื่อการแสดงละครหลวง หนังใหญ่และโขน ภายในราชสำนัก ต่อมาได้มีการแต่งรามเกียรติ์ขึ้นอีกในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่มุ่งใช้เพื่อเป็นบทแสดงละคร จึงเลือกเฉพาะตอนที่เหมาะสมสำหรับการแสดงเท่านั้น

รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1, รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4)  ทรงได้พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ขึ้นอีก โดยเลือกเฉพาะตอนที่มีบริทบสอดคล้องกับพระราชประวัติของพระองค์เอง คือตอน “พระรามเดินดง” ศานติ ภักดีคำ ให้ข้อเสนอว่าเนื้อเรื่องขณะที่พระรามต้องเดินป่าอยู่เป็นเวลา 14 ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา นั้นมีนัยสำคัญบางประการที่เชื่อมโยงกับพระราชประวัติ แม้บทละครรามเกียรติ์ฉบับนี้จะมีความยาวไม่มากนัก แต่ก็แฝงนัยและสัญลักษณ์ทางการเมืองไว้ (ศานติ ภักดีคำ. 2565) และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงค้นคว้าเรื่องบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ในฐานะ “สารทางการเมือง” ที่มีความสอดคล้องกับสภาพการเมืองการปกครองในช่วงเวลานั้น (อาทิตยา จารุจินดา, 2555: 151-152) ที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่อพระราชอำนาจแห่งสมบูรณาญาสิทธิ์ราช (ธิดา โมสิกรัตน์, 2550: 5-13) พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตามต้นฉบับวาลมีกิ เพื่อปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมให้เกิดการเกื้อหนุนความศรัทราต่อสถาบันกษัตริย์อย่างสมมติเทพ และเป็นเครื่องมือหว่านล้อมชักจูงประชาชนในการสอนการเมือง (เสาวณิต จุลวงศ, 2546: 66)  

ในเวลาเดียวกัน  สุรพงษ์ โสธนะเสถียร เสนอแนวคิดการตีความและแปลความหมายรามเกียรติ์ในฐานะตัวบทที่สัมพันธ์กับสังคมการเมือง เขาระบุว่าการตีความอย่างกว้างมีขอบเขตจำกัดอยู่ภายในตัวบทที่หยุดนิ่ง ไม่สามารถพัฒนาไปสัมพันธ์กับศาสตร์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือสังคมและการเมือง (สุรพงษ์ โสธนะเสถียร. 2526: 16) การตีความของ สุรพงษ์ แสดงให้เห็นว่าการทำความเข้าใจรามเกียรติ์ ในเชิงสหบท(Intertextuality) หรือตัวบทที่สัมพันธ์กับตัวบทอื่นๆ ที่มีมาก่อนจำเป็นต้องทำความเข้าใจตัวบทแวดล้อมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับตัวบทรามเกียรติ์ด้วย

เห็นได้ว่าการตั้งชื่อ “รามเกียรติ์” นั้นบ่งบอกชัดเจนว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่ “ราม” คติความเชื่อในสุวรรณภูมิล้วนสืบทอดต่อกันมาว่า พระมหากษัตริย์เป็นอวตารของเทพ ซึ่งในโครงเรื่องของรามเกียรติ์ล้วนแสดงบุญบารมีของพระรามผู้เป็นนารายณ์อวตาร เนื้อเรื่องเหล่านี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งในการนํามาเชิดชูผู้เป็นกษัตริย์ และโดยเฉพาะในกรณีของการเมืองไทย รามเกียรติ์กลายเป็นนิทานที่สถาปนาศีลธรรมของรัฐ และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมพระราชอำนาจในฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล

รามเกียรติ์จึงมีความเหมาะสมในฐานะวรรณคดี ที่จะทําให้ผู้อ่านเกิดมโนภาพในพระเกียรติและบารมี ของผู้เป็นกษัตริย์มากกว่าจะนํามาเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง โดยเฉพาะกรณีศึกษารามเกียรติ์ ของเจตนา นาควัชระ (เจตนา นาควัชระ. 2521: 55-56) บ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้สัญลักษณ์ภาพแทนด้านคุณธรรม เพื่อสื่อถึงปรัชญาพุทธศาสนาด้านธรรมะ ซึ่งพระรามในบทประพันธ์ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็คือภาพตัวแทนตนเองของผู้สถาปนาตนขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

แท้จริงแล้วรามเกียรติ์มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง และบรรลุเป้าหมายในการสร้างเสริมบารมีและความเชื่อต่อผู้เป็นกษัตริย์อย่างมาก และวัตถุประสงค์สําคัญที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เลือกแต่งรามเกียรติ์ในช่วงเริ่มแผ่นดินใหม่ ซึ่งชนชั้นนําใหม่ขณะนั้นกําลังแสวงหาความชอบธรรมในการขึ้นครองราช และความชอบธรรมที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะการประหารขุนนางเก่า (ศุภวิทย์ ถาวรบุตร. 2642) อีกด้วย

รามเกียรติ์ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ตั้งใจสร้างโลกทัศน์ที่อธิบายถึงระเบียบจักรวาลที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งอย่างไม่มีข้อยกเว้น โลกทัศน์แบบไทยที่ว่าด้วยเรื่องลำดับชั้น เป็นระเบียบที่มองจักรวาลบนพื้นฐานความไม่เท่าเทียม และเชื่อว่าจักรวาลถูกแบ่งเป็นลำดับชั้นเช่นเดียวกันกับโลกมนุษย์ มนุษย์แบ่งเป็นลำดับชั้นจากชาติกำเนิด บรรดาศักดิ์ เป็นต้นทางความคิด และความเชื่อของไทยที่ว่ากษัตริย์มีชาติกำเนิดที่สูงส่งกว่าบุคคลทั่วไป (ชวัลนันท์ จันทร์ทรัพย์. 2563: 45)  

การสร้างระเบียบจักรวาลว่าด้วยเรื่องลำดับชั้น คือโลกทัศน์แบบไทยที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบพุทธและฮินดู การสร้างระเบียบจักรวาลเรื่องลำดับชั้นนำมาซึ่งปัญหาโครงสร้างทางสังคมการเมืองแบบไทยๆ ซึ่งมีวิธีการจัดระเบียบจักรวาลบนพื้นฐานแห่งความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียมกัน โดยนำกฎเกณฑ์เรื่องบุญกรรมและลิขิตมาเป็นเครื่องมือในการอธิบาย 

จะเห็นได้ว่าพระรามในรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ คือภาพแทนของชนชั้นผู้ปกครองที่มีอำนาจและเป็นบุคคลอุดมคติทางศีลธรรม ด้วยเจตจำนงของบทประพันธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับนี้ได้พยายามวางรากฐาน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงภายในประเทศ สะท้อนภาพอัตบุคคลทางการเมือง การจัดระเบียบสังคม การแทรกพระราชคตินิยมบางประการเป็นกรอบให้ราษฎรยอมรับว่า พระองค์มีศักดิ์และสิทธ์สมบูรณ์ที่จะปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ 

ที่สำคัญรามเกียรติ์ฉบับดังกล่าวยังมีความแนบแน่นกับแนวคิดทางรัฐศาสตร์  3 ประการคือ เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายสังคมและปรัชญาการเมือง เป็นการปฏิวัติกล่าวคือการชำระเรื่องรามเกียรติ์นั้น สร้างความชอบธรรมต่อการปกครองได้เช่นเดียวกับการชำระพงศาวดาร และเป็นสื่อหรือเครื่องมือทางการเมืองในการถ่ายทอดความคิดให้กับสังคมหรือเพื่อกล่อมเกลาสังคม  

ในประเทศอินเดียมักเอ่ยอ้างถึงพระรามอยู่บ่อยครั้ง ในกลุ่มนักการเมืองฝ่ายขาวพรรคภารติยะชนตะ (BJP) หรือพรรคฮินดูนิยม เช่นเดียวกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งกล่าวไว้ในการตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้าน ที่รัฐสภาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2022 ว่าตนเองเข้ามาทำงานในสภาโดยวางบทบาทของตนให้เหมือนรามเกียรติ์ ตนคือผู้เล่นบทพระราม อีกฝ่ายต้องเล่นบททศกัณฐ และที่สุดย่อมทราบกันดีอยู่ว่าทศกัณฐต้องตาย 

การยกตนข่มท่านเพื่อด้อยค่าทศกัณฐอย่างจงใจ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงศีลธรรมของผู้พูดเอง(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพระรามมีจุดอ่อนอยู่มิใช้น้อยในเชิงตัวบท รื่นฤทัย สัจจพันธ์ (รื่นฤทัย สัจจพันธ์. 2528: 305-307) ระบุว่าแม้พระรามจะไม่ใช้บุคคลธรรมดาเป็นพระนารายณ์อวตาร แต่ขณะเดียวกันดูเหมือนพระรามก็มีความอ่อนแอไม่เป็นตัวของตัวเองอยู่มิใช่น้อย ทำให้บทบาทเชิงตัวละครไม่โดดเด่นนัก เนื่องจากต้องอาศัยผู้อื่นในการรบ เช่นมีพระลักษณ์ ทัพวานรและพิเภคเป็นผู้ช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาในขณะที่ทศกัณฐ์ตามความเห็นของเปริยาร์ คือผู้มีวรรณะพราหมณ์ มีการศึกษาและเป็นปราชญ์ ย่อมแสดงว่าทศกัณฐ์มิใช่ชาวบ้านธรรมดาเช่นกัน แต่เป็นผู้มีวัฒนธรรมอย่างอารยันและมีสถานะกษัตริย์ของชาวทมิฬ ทศกัณฐ์จึงเป็นภาพจำลองของชีวิตจริงของมนุษย์ซึ่งมีทั้งความดีความชั่ว มีกิเลสตัณหา มีความอ่อนแอและความเข้มแข็งปะปนกับไป (ประภาษ เพ่งพุ่ม. 2544) ต่างจากพระรามซึ่งเป็นภาพแทนของเทพเจ้าและโลกในอุดมคติ(utopia) ในสังคมไทย

ความชอบธรรมที่ฝังแฝงอยู่ในความเชื่อเรื่องการปกครองแบบธรรมราชคือการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์จำเป็นต้องอาศัยพิธีกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีทรงให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการสถาปนาอำนาจของตนเอง และความพยามที่จะรักษาความชอบธรรมในอำนาจที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น (สมบัติ จันทรวงศ์. 2547) แม้วิถีความเป็นไปของอำนาจนั้นยังหาความแน่นอนไม่ได้ พระองค์จึงจำเป็นต้องประกอบสร้าง ความเป็นราชสำนักอยุธยาไว้ในราชสำนักรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบแผนความเชื่อ ตลอดจนพิธีกรรมปฏิบัติที่เป็นหัวใจสำคัญในการรับรองสถานะการเป็น “พระมหากษัตริย์” เช่นพระราชพิธี “บรมราชาภิเษก” ตามอย่างพิธีพราหมณ์ มีผลให้พระองค์เปลี่ยนสถานะจากสามัญชนมาเป็นกษัตริย์ (เสาวณิต จุลวงค์. 2001: 74) และยืนยันถึงความมั่นคงในพระราชอำนาจ

พระราชพิธี “บรมราชาภิเษก” : ที่มาภาพ https://www.silpa-mag.com/history/article_30706

ในบทประพันธ์รามเกียรติ์ฉบับดังกล่าว จึงปรากฏพลวัตอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจ คือตัวละครพระรามในสังคมไทย ได้ถูกปรับเพิ่มสถานะจากการเป็นเพียง “วรรณกรรมศักดิ์” ในศาสนาพราหมณ์ให้กลายมาเป็น “วรรณกรรมรับใช้อุดมการณ์” และ “วรรณกรรมรับใช้การเมือง” ของชนชั้นนำในสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน (ชวรินทร์ คำมาเขียว,วรวรรธน์ ศรียาภัย, บุญยงค์ เกศเทศ และ จารุวรรณ เบญจาทิกุล. 2564: 78) และพลวัตดังกล่าวได้ส่งอิทธิพลต่อแนวทางปฏิบัติในส่วนของพระราชพิธีสืบมา

อ่านต่อ>>> #23การเมืองในรามายณะ/รามายณะใน documenta fifteen : ถอดนัยอำนาจชนชั้นปกครองไทย ตอนที่ 2/2

Tags: No tags

Comments are closed.