Baannoorg Exhibition review: SILPA BHIRASRI CREATIVITY GRANTS 22 EP#4

เรียบเรียงโดย จิระเดช มีมาลัย

จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ขณะนี้ เป็นโครงการที่สนับสนุนทุนสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ ตามโครงการที่ศิลปินแต่ละท่านได้นำเสนอเข้ามาเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือก อย่างที่กล่าวมาในหลาย EP ครั้งนี้ก็เช่นกันผู้รับทุนอาศัยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ(process and research base art ) เพื่อสร้างกรอบแนวทางในการนำเสนอผลงานของเขา

Baannoorg Exhibition review: EP#4 ทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 ขอหยิบยกผลงานของ เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ มานำเสนอ ซึ่งในผลงานของศิลปินครั้งนี้ถือได้ว่า มีความเข้มข้นในกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการทางศิลปะอย่างมาก โดยศิลปินอาศัยตัวบทในการนำเสนอผลงานของตนอย่างมีนัยสำคัญ

Jedsada Tangtrakulwong: Pour, 2016, steel, enamel paint and LED strip lights, diameter 180 cm x height 220 cm.

ผลงานของ เจษฎา มักมีลักษณะศิลปะคอนเซ็ปช่วล (conceptual art) โดยวิธีการสืบค้นข้อมูลทั้งเชิงประจักษ์และข้อมูลที่เผื่อแพร่ในโลกออนไลน์ นำมาย่อยให้เกิดเป็นกระบวนการ และนำเสนอตะกอนที่กลั่นกรองแล้วออกมาในเชิงทัศน์ศิลป์ ในโครงการครั้งนี้ก็เช่นกันศิลปินนำเสนอผลงานที่ชื่อ “วัฏจักรของการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง” ซึ่งวัฏจักรในที่นี้ศิลปินมิได้อธิบายมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา หากแต่อาศัยชั้นเชิงในการใช้ภาษาทางทัศน์ศิลป์สร้างไวยากรณ์ใหม่ๆ ในการสื่อสารกับผู้ชม อันเป็นไวยากรณ์เชิงสหบท(Intertextuality) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทต่างๆ ที่ศิลปินได้สัมผัสมาในขณะลงพื้นที่และสืบค้นข้อมูล

ในเวลาเดียวกันศิลปินยังได้อาศัยตัวบทต่างๆ นำมาถอดรหัสที่เชื่อมโยงความรู้สองชุด ได้แก่ ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และความรู้ด้านสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน จากประสบการณ์งานสอนที่ภาควิชาสหศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การนำตัวบท(text) อื่นที่ปรากฏในบริบททางสังคมของศิลปิน เช่น ตัวบทเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์  ตัวบทคำกล่าวของบุคคล ตัวบททางวิทยาศาสตร์ และตัวบทอื่นๆ เป็นวิธีในการอธิบายซ้ำอีกครั้งในผลงาน คือความพยายามวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของศิลปินในเชิงวิพากษ์ ที่ถักทอแขนงกิ่งก้านจากภาพแทนของพืชกาฝาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินมุ่งศึกษาเพื่อขยายผลไปสู่มิติทางสังคม และประเด็นปัญหาของความเป็นชายขอบอย่างมีนัยสำคัญ

ผลงานศิลปะสื่อผสม วัฏจักรของการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง: เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์

ในนิทรรศการศิลปินได้นำเสนอผลงานหลากหลายสื่อด้วยกัน ได้แก่ ตับบท สื่อวีดีทัศน์ ภาพถ่าย บทสัมภาษณ์ การทดลองและการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ ยังผลให้ฐานข้อมูลที่ได้มามีขนาดใหญ่ ผลงานที่นำเสนอจึงมีลักษณะกระจัดกระจายไม่ปะติดต่อ เป็นจิ๊กซอที่อาศัยผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งในการอ่านและสร้างการรับรู้ร่วมไปกับศิลปินผ่านข้อมูลที่ถูกฝังแฝงคำถามปลายเปิดเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากการเชื่อมโยงกรณีศึกษาพืชกาฝาก 8 ชนิดกับพื้นที่กรณีศึกษา 8 แห่ง ซึ่งนัยของความเป็นชายขอบ เป็นพื้นที่ที่รัฐไทยมิได้ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควรในฐานะพลเมือง หรืออาจตั้งคำถามได้ว่าเขาเหล่านั้นคือผู้ที่เข้ามาเกาะไม้ใหญ่หรือโฮสต์ในฐานะพืชกาฝากหรือไม่? 

ผลงานศิลปะสื่อผสม วัฏจักรของการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง: เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์

ความเชื่อมโยงระหว่างพืชกาฝากกับพื้นที่มีความน่าสนใจหลายประการ ซึ่งในที่นี้การลงพื้นที่ของศิลปินเพื่อเสาะแสวงหาข้อมูลเชิงประจักษ์ แสดงให้เราเห็นถึงนัยที่แฝงอยู่ในวิธีคิดและการนำเสนอผลงานของศิลปิน อาทิเช่น การลงชุมชนชาวกะเหรี่ยง ชุมชนชาวไทใหญ่ หรือแม้แต่แคมป์คนงานเมียนมาก็ดูจะเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกระหว่างรัฐชาติกับความเป็นชายขอบของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือในที่นี้หมายถึงพืชกาฝากกับโฮสต์(ไม้ใหญ่) นั้นเอง

การตามหาต้นกระไดลิงบนเส้นทางห้วยคอกม้า ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุยของศิลปิน ถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและจีนฮ่อ จากการศึกษาของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นป่าเสื่อมโสม และได้รับการฟื้นฟูสภาพจนอุดมสมบูรณ์เกือบเท่าป่ารุ่นที่หนึ่งแล้ว โดยชุมชนชาวม้งบ้านดอยปุยและหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาระหว่างคนและป่าได้อย่างดี การเอาคนออกจากป่าหรือพื้นที่เขตอุทยานตามนโยบายรัฐ นอกจากจะสร้างปัญหาทั้งด้านสิทธิในพื้นที่ทำกินแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ตามมา ซึ่งในมิติที่ศิลปินกล่าวถึงคือ ความเป็นส่วนเกินของชายขอบกับรัฐในฐานะโฮสต์(ไม้ใหญ่) ที่แพร่คุมไปในทุกทิศทาง

พืชกาฝาก กระไดลิง ที่มา: https://thai-herbs.thdata.co/page/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87/

การนำตนเองในฐานะศิลปินเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้คน ชุมชน และพื้นที่นั้น ไม่เพียงทำให้ศิลปินได้รับข้อมูลตามสมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ความเชื่อมโยงเหล่านี้ได้เผยให้ผู้ชมสัมผัสกับแง่มุมอื่นๆ ซึ่งแวดล้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางวัฒนธรรม ประเพณีความเชื่อ หรือแง่มุมประวัติศาสตร์ที่ถูกกลบทับจากชุดความรู้กระแสหลัก ซึ่งในความเป็นจริงพื้นที่เหล่านี้เคยเป็นพื้นที่จับจอง ที่กลุ่มชาติพันธุ์อพยพถิ่นที่อยู่อาศัยมานานก่อนที่ทางการจะประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติครั้งแรกในปี พ.ศ.2468 และต่อมาได้ประการพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 

การอพยพของผู้คนในเขตพื้นที่ตะเข็บชายแดน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาถึงช่วงสงครามเย็น เป็นความพยายามที่รัฐบาลต้องการสร้างแนวกันชนเพื่อป้องกันการลุกคืบจากลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน ด้วยการนำคนเข้ามาเติมในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะบนพื้นที่สูงตามแนวเขาตลอดแนวจากภาคเหนือไปจรดภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ครั้งสำคัญ และส่งผลให้การขยายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในรุ่นต่อๆ มา ไม่ได้รับสิทธิพึงมีในฐานะพลเมืองของรัฐ และยังเป็นข้อโต้แย้งในสิทธิที่ทำกินสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

Tags: No tags

Comments are closed.